กทม. 18 ก.พ.- โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน หนึ่งในเมกะโปรเจกต์มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท ที่เป็นไฮไลท์สำคัญ ของการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ซึ่งแม้ว่าจะมีการประกวดราคา ให้เอกชนมายื่นซองประกวดราคาไปแล้ว จนได้เอกชนที่เสนอเงื่อนไขดีที่สุด แต่จนถึงขณะนี้ การเจรจาต่อรองที่จะนำไปสู่การลงนามก่อสร้าง ยังไม่เกิด วันนี้จะพาไปดูรายละเอียดว่าติดขัดปัญหาอะไร
ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา เมื่อการยื่นซองเสนอเงื่อนไขของเอกชน ได้ข้อสรุป กลุ่มกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด หรือ ซี.พี. และพันธมิตร ชนะประมูล ด้วยเงื่อนไขเป็นผู้เสนอให้รัฐสนับสนุนเงินก่อสร้างน้อยที่สุดวงเงิน 117,227 ล้านบาท นำไปสู่การที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้เชิญกลุ่ม ซี.พี. และพันธมิตรมาเจรจาต่อรอง แต่การเจรจาผ่านมา 6-7 ครั้ง ยังไม่สามารถหาข้อยุติได้
จนมีการเปิดเผย ถึงปัจจัยการเจรจา ที่ทำให้การเจรจาหาข้อสรุปได้ยาก มาจากเงื่อนไขที่ กลุ่มซีพี เสนอ เนื่องจากส่วนใหญ่อยู่นอกเหนืออำนาจคณะกรรมการคัดเลือก และไม่อยู่ในเงื่อนไขทีโออาร์ เช่น 1.ขอขยายเวลาอายุสัมปทานจากที่กฎหมายอีอีซีกำหนด 50 ปี ออกไปอีก 49 ปี รวมเป็น 99 ปี 2.ขอให้รัฐจ่ายเงินอุดหนุนตั้งแต่ปีแรกจากสัญญากำหนดปีที่ 6-15 เพื่อให้รัฐรับประกันการจ่ายเงินให้ก่อนที่จะมีการรับรู้รายได้ เพื่อจะได้นำโครงการไปกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยถูกลงได้ เนื่องจากโครงการมีความเสี่ยงสูง และขอให้รัฐหาดอกเบี้ยในอัตราที่เหมาะสมให้ 3.ขอปรับแบบก่อสร้างจากยกระดับเป็นทางระดับดินให้เหมาะสมในบางพื้นที่ เพื่อลดต้นทุนการก่อสร้าง 4.ขอเลื่อนจ่ายค่าเช่าที่ดินสถานีมักกะสัน 150 ไร่ และสถานีศรีราชา 25 ไร่ ออกไปก่อน แต่จะบวกค่าดอกเบี้ยให้ด้วย จากที่ทีโออาร์กำหนดต้องจ่ายค่าแรกเข้าทันทีหลังเซ็นสัญญา และแบ่งจ่ายปีที่ 1-50 5.ขอเลื่อนจ่ายค่าสิทธิการเดินรถแอร์พอร์ตลิงก์ จำนวน 10,671 ล้านบาท ออกไปก่อน เป็นต้น
จนล่าสุด นายวรวุฒิ มาลา รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการคัดเลือกโครงการระบุว่า จะพยายามให้การเจรจา ได้ข้อสรุปภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ และมีความเป็นไปได้ที่การเจรจากับกลุ่มซีพี จะได้ข้อสรุป ทั้ง การนำไปสู่การลงนามเดินหน้าโครงการ หรือ ยุติการเจรจาล้มการเจรจาไปเลย แต่หากการเจรจา ล้มไป ต้องมาจากความเห็นร่วมกันทั้ง 2 ฝ่ายว่า การเจรจาไปต่อไม่ได้ ซึ่ง รฟท. ก็พร้อมที่จะเชิญ กลุ่มร่วมค้า BSR ซึ่งนำโดย BTS เอกชนที่เสนอเงื่อนไข ได้ในลำดับถัดไปมาเจรจา
โดยการเจรจาครั้งนี้ จะได้ข้อสรุปหรือไม่ มีรายงานระบุว่า จะขึ้นอยู่กับ กลุ่มซีพี จะยอมถอนเงื่อนไขเหล่านี้หรือไม่ ซึ่งล่าสุดวันนี้ คณะกรรมการฯ ก็ยังเปิดเจรจา กับกลุ่มซีพี
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)หรือ บีทีเอส ในฐานะแกนนำกลุ่มบีเอสอาร์ BSR คู่บอกว่า หาก รฟท. ไม่ประสบผลสำเร็จในการเจรจากับซีพี กลุ่มบีเอสอาร์มีความพร้อมอย่างมากในการเข้าเจรจาต่อรองแทนโดยมั่นใจว่าทางกลุ่มมีข้อเสนอดีพอที่จะเอาชนะคู่แข่งได้
พร้อมยันว่าจะไม่ยื่นข้อเสนอนอกเอกสารขอบเขตเงื่อนไขการประกวดราคา หรือ TOR แน่นอน แม้ว่ากลุ่ม BSR จะเสนอขอให้รัฐสนับสนุนโครงการสูงกว่าคู่แข่งอยู่ 5.27 หมื่นล้านบาท ทว่าสามารถลดราคาลงได้อีกในขั้นตอนการเจรจาต่อรอง หากได้โอกาสเข้าเจรจากับรัฐบาลจริงคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเวลา 30 วัน หรือจบลงได้ภายในเดือนมีนาคมตามเป้าหมายของรัฐบาล จะไม่ยืดเยื้อมาก นอกจากนี้จะใช้ประสบการณ์พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์จากงานเดินรถไฟฟ้าเข้ามาพัฒนาสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงให้สะดวก ทันสมัยและตอบโจทย์การเดินทางของประชาชนโดยเฉพาะสถานีขนาดใหญ่อย่างอู่ตะเภา.-สำนักข่าวไทย