กลาโหม 24 ม.ค.-“ภูมิธรรม” แจงหลังสื่อเมียนมาแฉไทยจ่ายไฟให้คอลเซ็นเตอร์ เผยตัดไฟชายแดนแล้ว 2 จุด “แม่ระมาด-แม่สอด” ตั้งแต่ มิ.ย.67 ย้ำไทยไม่ใช่ทางผ่านแค่ประเทศเดียว ชี้ส่วนใหญ่ไปทำงานสมัครใจ ได้ค่าแรงสูง ระบุ กฟภ.อ้างไม่รู้ความมั่นคงได้อย่างไร
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีสื่อเมียนมา ระบุประเทศไทยเป็นผู้ที่ขายไฟฟ้าให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ และขบวนการพนันออนไลน์ จะมีการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างไร ว่า พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่สร้างปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ และอยู่ในฝั่งเมียนมา ซึ่งมีการประสานงานกันให้ช่วยแก้ไข แต่ทางเมียนมาก็บอกว่าเป็นพื้นที่ที่เขายากจะเข้าไป เพราะมีกำลังของชนกลุ่มน้อย อีกทั้งจริงๆการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ก็ดำเนินการบนพื้นฐานที่มีการจ่ายไฟข้ามแดน ซึ่งเป็นวัตรปฏิบัติปกติ แต่พอเกิดเรื่องแล้วก็มีการตรวจสอบ ซึ่งจุดที่เราดำเนินการ 4 แห่ง มีที่สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2, ชายแดนเมืองเมียวดี, อำเภอแม่ระมาด และอำเภอแม่สอด
โดยที่เมียวดี กับ สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ตรวจสอบแล้วเป็นพื้นที่ที่ประชาชนใช้งานจริง ก็ไม่มีการปิดกั้นอะไร จึงปล่อยให้ดำเนินการได้ แต่ส่วนที่มีปัญหาคือ อำเภอแม่ระมาด กับ อำเภอแม่สอด ซึ่งเป็นแหล่งที่มีการพนันออนไลน์ มีคอลเซ็นเตอร์ ได้ดำเนินการตัดไฟไปแล้วตั้งแต่ 5 มิถุนายน 2567 จากนั้นก็มีการตรวจสอบและประสานงานอย่างเต็มที่ โดยหลายเรื่องที่ผิดกฎหมาย ก็รื้อเสาสัญญาณ หรือ ฐานส่งสัญญาณ พร้อมกับประสานกับ กสทช. อีกส่วนก็ประสานกับบริษัทที่เป็นโอเปอเรเตอร์ ดำเนินการเรื่องที่ยังเป็นปัญหาอยู่ คือเรื่องของอินเตอร์เน็ต ซึ่งวันนี้ได้คุยกันแล้วก็คิดว่าจะมีการดำเนินการเร็วๆนี้
“ไฟตัดแล้ว ซึ่งไฟทำสัญญาปีต่อปี ก็ว่ากันเป็นส่วนๆ ส่วนที่มีปัญหาเราก็ได้จัดการแล้ว จริงๆ เรื่องนี้มันไม่ใช่ประเทศไทยประเทศเดียว เป็นเรื่องที่เมียนมา และจีน ที่ต้องช่วยกัน ซึ่งจีนก็ประกาศชัดเจนอยู่แล้วว่าเขาจะดำเนินการเต็มที่ และไทยก็ประกาศชัดเจนว่าจะดำเนินการเต็มที่เช่นกัน เพราะฉะนั้นของเราตอนนี้ที่มีปัญหาและถูกกล่าวหาคือเรื่องไฟ กับ การเป็นทางผ่าน จริงๆเวลาตรวจสอบคนงานที่เข้าไปทำงานที่ชเวโก๊ะโก หรือทางฝั่งเมียนมา ไม่ได้มาจากไทยที่เดียว เพราะบางคนก็ผ่านมาทางสุวรรณภูมิ ซึ่งก็มีกล้องจับตาดู เข้ามาโดยปกติ ไม่ผิดกฎหมาย และมาเป็นแนวท่องเที่ยว”
นายภูมิธรรม กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีชาวอินโดนีเซีย 32 คน ที่จับได้ ก็เดินทางผ่านสุวรรณภูมิ 12 คน และไปปรากฏที่ด่าน รายงานอยู่ 8 คน แต่อีก 4 คน ไม่ทราบไปไหน ส่วนอีก 20 คนยังไม่มีที่มา ก็ตรวจสอบอยู่ นอกจากนี้ก็ยังมีเครื่องบินจากยุโรป-แอฟริกา บินเข้าเมียนมาโดยตรงผ่านทางย่างกุ้ง อีกส่วนมาจากเมืองจีนก็เข้าที่เมียวดีเลย เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่อีกหลายส่วนที่ต้องว่ากัน แต่โดยรวมการเข้าไปเท่าที่เราสอบสวนดู เป็นการเข้าไปโดยสมัครใจ เพราะคิดว่าเป็นงานที่มีค่าแรงสูง ดูได้จากโฆษณาตามออนไลน์ แต่พอทำงานแล้วไม่ได้ตามที่เขาต้องการ หรือผิดความคาดหมาย ก็มีจำนวนหนึ่งที่ทนไม่ได้และพยายามหนีออกมา อย่างที่เป็นข่าว 32 ชาวอินโดนีเซีย หนีเข้ามาได้ ซึ่งทาง ฉก.ราชมนู ไปพบเขาก็นำตัวมาและดำเนินการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ถ้าตรวจสอบแล้วไม่มีคดีอะไรก็ปล่อยไป เพราะฉะนั้นเรื่องไฟฟ้าเรากำลังดำเนินการอยู่ และทำไปบ้างแล้ว จริงๆถ้าจะบอกว่ามาจากไทยทั้งหมดคงไม่ใช่
ส่วนวานนี้ที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ. เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการความมั่นคงฯ โดยพูดในลักษณะว่ามีหน้าที่จ่ายไฟ แต่ไม่ได้มีความรู้เรื่องผลกระทบความมั่นคง ซึ่งในวันที่ 29 มกราคมนี้การไฟฟ้าจะมีการประชุม และทางสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. ก็ขอเข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อให้ข้อมูลเรื่องความมั่นคง ได้รับรายงานแล้วหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า ก็เป็นอย่างนั้น ถ้าบอกว่าไม่เข้าใจเรื่องความมั่นคง ฝ่ายความมั่นคงก็จะ ไปทำความเข้าใจ
เมื่อถามว่าจำเป็นต้องทำความเข้าใจกับนายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ในฐานะที่กำกับดูแล กฟภ. ให้ชัดเจนมากกว่านี้หรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า การประสานงานคงมีอยู่แล้ว แต่ต้องดูรายละเอียดว่าที่เขาแถลงเป็นอย่างไร ก็มีการประสานระหว่างหน่วยงานอยู่ แต่ถ้าเป็นเรื่องระดับนโยบาย นายอนุทินก็อยู่ในที่ประชุม สมช. อยู่แล้ว ก็รับรู้ร่วมกัน ก็ต้องไปดำเนินการ
“ฝ่ายปฏิบัติการอาจจะอ้างได้ แต่จริงๆก็ไม่ควรอ้าง แต่ควรรับรู้ได้ด้วยวิญญูชน มันไม่ควรอ้างแบบนี้ แต่ถ้าคุณขายไฟแล้วพบว่ามีปัญหา คุณก็ควรต้องจัดการเท่านั้นเอง ไม่ใช่ปฏิเสธว่ามีอำนาจส่งไฟขายไฟ คุณอาจไม่รู้เรื่องรายละเอียดตรงนี้ ก็อาจไม่ว่ากัน ความไม่ครบถ้วนตรงนี้ก็อาจต้องคุยกัน แต่การที่บอกว่าไม่มีความรู้เรื่องนี้ มันรู้อยู่แล้วเรื่องนี้ต้องประสานงาน เราเองเราทราบก็ต้องดำเนินการ อย่างมิถุนายนปีที่แล้ว ก็มีการดำเนินการไปแล้ว 2 แห่ง เพราะเป็นที่ชัดเจน”.-313.-สำนักข่าวไทย