ปักกิ่ง 23 ม.ค. – สถานการณ์ฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่และเร่งด่วนในไทยอยู่ในขณะนี้ หลายฝ่ายกำลังหาทางแก้ไขด้วยการมุ่งไปที่ต้นตอที่ทำให้เกิดฝุ่น
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ในปี พ.ศ. 2542 ประชากรโลกมากถึง 92% ได้รับฝุ่น PM2.5 ในระดับความเข้มข้นสูงกว่าที่องค์การอนามัยโลกกำหนด และถ้ารัฐบาลทุกประเทศไม่เร่งแก้ปัญหาอย่างเอาจริงเอาจัง ภายในอีก 7 ปีข้างหน้า หรือ พ.ศ. 2573 คุณภาพชีวิตคนทั่วโลกจะยิ่งเลวร้ายสุดขีด เพราะปริมาณ PM2.5 จะเพิ่มขึ้นจากเดิม 50%
และประเทศที่สามารถพิสูจน์ให้เห็นเป็นตัวอย่างว่า หากรัฐบาลตั้งใจจริงจัง ทุ่มสรรพกำลังความพยายาม จะสามารถกำจัดปัญหาฝุ่นควันพิษได้อย่างแน่นอนนั่นก็คือ จีน
จีนเคยมีคนเสียชีวิตเพราะมลพิษในอากาศปีละหลายล้านคน แต่ทุกวันนี้แม้แต่ธนาคารโลกยังยกย่องจีนว่า เป็นแบบอย่างของความพยายาม สามารถพลิกฟ้าหม่นเพราะฝุ่น PM2.5 ให้กลับเป็นฟ้าใสได้สำเร็จ
ความพยายามของเหมา เจ๋อตุง ผู้นำจีนที่มุ่งเปลี่ยนสังคมเกษตรกรรมเป็นสังคมอุตสาหกรรม ทำให้จำนวนโรงงานในจีนเพิ่มขึ้นทวีคูณภายใน พ.ศ. 2502 แน่นอนว่า นโยบายเศรษฐกิจของผู้นำจีนช่วยให้คนจีนหลายล้านหลุดพ้นจากขีดความยากจน แต่ก็ต้องแลกกับชีวิตและสุขภาพ เพราะควันพิษจากโรงงานทำให้ฝุ่น PM2.5 พุ่งในระดับเกินกว่าจะรับไหว กว่ารัฐบาลจะรู้ตัวว่าปัญหามาถึงขั้นวิกฤต ก็มีคนเสียชีวิตเพราะฝุ่นพิษปีละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน
ในปี 2556 รัฐบาลจีนจึงเริ่มและเร่งทำสงครามปราบฝุ่นพิษอย่างจริงจัง ด้วยแผนปฏิบัติการกำจัดมลพิษทางอากาศ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นยาแรงและได้ผลยิ่ง มีทั้งสั่งปิดเหมืองถ่านหิน ห้ามสร้างโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินแห่งใหม่ จำกัดจำนวนรถยนต์ส่วนบุคคล ส่งเสริมใช้รถพลังงานไฟฟ้า ที่สำคัญทุ่มเงินงบประมาณแสนล้านดอลลาร์เพื่อการสร้างป่าและปลูกป่าใน 12 มณฑล ซึ่งเป็นมณฑลอุตสาหกรรมได้มากถึง 35,000 ล้านต้น
ขณะเดียวกันมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ด้วยการสร้างเครือข่ายติดตามคุณภาพอากาศแบบบูรณาการขึ้นในปี 2559 เป็นการติดตั้งเซ็นเซอร์คุณภาพสูงมากกว่า 1,000 ตัวทั่วกรุงปักกิ่ง ช่วยให้สามารถระบุพื้นที่และเวลาที่ฝุ่นพิษมีความเข้มข้นสูงได้อย่างแม่นยำ
รัฐบาลจีนยังมีมาตรการจูงใจให้คนมีส่วนร่วมในการสร้างอากาศดี เช่น ให้เงินอุดหนุนประชาชนในการซื้อรถคันใหม่ โละทิ้งรถเก่า ไม่ว่าจะเป็นรถบรรทุก รถเมล์ หรือรถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งเป็นตัวการของการปล่อยฝุ่นควันพิษ นอกจากนี้ยังให้สิทธิพิเศษแก่รถยนต์พลังงานใหม่ด้วย
ภายในเวลาเพียง 4 ปี จีนสามารถลดปริมาณฝุ่น PM2.5 ในชั้นบรรยากาศได้มหาศาล เฉพาะในกรุงปักกิ่งฝุ่นพิษลดลงถึง 33% รายงานผลปฏิบัติงานของรัฐบาลจีน ซึ่งเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีนเมื่อ 5 มีนาคม 2566 ระบุว่า ระหว่างปี 2555-2564 ปริมาณ PM2.5 ในจีนลดลงถึง 57% ส่วนปี 2565 จีนมีอากาศดี ฟ้าใส ปลอดฝุ่น PM2.5 มากถึง 280 วัน
ล่าสุด มีรายงานว่าปี 2567 กรุงปักกิ่งมีคุณภาพอากาศดี มากถึง 290 วัน เท่ากับ 80% ของปี และมีจำนวนวันคุณภาพอากาศดีขึ้น มากกว่าปีที่แล้วถึง 19 วัน มีฝุ่น PM2.5 เพียง 30.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ความสำเร็จเกิดขึ้นได้เป็นเพราะทางการกรุงปักกิ่งยังคงดำเนินนโยบาย “One Microgram” ต่อเนื่อง เพื่อควบคุมมลพิษทางอากาศ One Microgram หมายถึง นับปริมาณลดการปล่อยฝุ่นพิษทุก 1 ไมโครกรัม
ความสำเร็จนี้ไม่ได้จำกัดเพียงแค่กรุงปักกิ่งเท่านั้น เพราะมีการร่วมมือกับพื้นที่ใกล้เคียง นำมาซึ่งการดำเนินมาตรการและนโยบายแบบสอดประสานกัน และขยายออกไปเป็นวงกว้าง ความทุ่มเทของรัฐบาลจีนทำให้ธนาคารโลกยกย่องว่า เป็นแบบอย่างของความพยายามที่สามารถพลิกฟ้าหม่นเพราะฝุ่น PM2.5 ให้กลับเป็นฟ้าใสได้สำเร็จ.-810(814).-สำนักข่าวไทย