กรุงเทพ 25 ต.ค.- กรมป่าไม้ เคลียร์ชัด! ปม อนุญาตให้มูลนิธิวิมุตตยาลัยและศูนย์วิปัสสนาไร่เชิญตะวัน เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยปุย จ.เชียงราย ตรวจสอบแล้วไม่พบการบุกรุกพื้นที่เพิ่มเติมจากการขออนุญาต
นายบรรณรักษ์ เสริมทอง รองอธิบดีกรมป่าไม้ ในฐานะโฆษกกรมป่าไม้ เป็นประธานในการแถลงข่าว พร้อมเปิดเผยว่า ผลการตรวจสอบกรณีพื้นที่ที่กรมป่าไม้อนุญาตให้มูลนิธิวิมุตตยาลัยและศูนย์วิปัสสนาไร่เชิญตะวัน เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยปุย อ.เมือง จ.เชียงราย ยืนยันตรวจสอบพื้นที่แล้วไม่พบการบุกรุกพื้นที่เพิ่มจากการขออนุญาตซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ โดยในเบื้องต้นกรมป่าไม้ขอเรียนชี้แจงว่ากรมป่าไม้ได้อนุญาตให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและมูลนิธิวิมุตตยาลัยให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 3 แปลง ได้แก่
- แปลงที่ 1 เนื้อที่ 113 ไร่ 1 งาน 82 ตารางวา โดยมูลนิธิวิมุตตยาลัยได้รับการอนุญาตจากกรมป่าไม้ เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2566 เพื่อใช้เป็นสถานที่ตั้งมหาวิชชาลัยพุทธเศรษฐศาสตร์ ธรรมสมโภช 750 ปี รัตนบุรีเชียงราย โรงเรียนชาวนาพุทธเศรษฐศาสตร์ และเพื่อใช้เป็นสถานที่วิปัสสนากรรมฐาน
- แปลงที่ 2 เนื้อที่ 14 ไร่ 3 งาน 97 ตารางวา โดยได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2566 เพื่อเป็นสถานที่จัดตั้งวัดไร่เชิญตะวัน
- แปลงที่ 3 เนื้อที่ 11 ไร่ 3 งาน 01 ตารางวา อนุญาตให้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อสร้างศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2566
ทั้งนี้ทั้ง 3 แปลง ผู้ใช้ประโยชน์จะต้องปลูกป่าชดใช้ตามจำนวนที่ขอทำประโยชน์หรือขออนุญาต หากไม่ปลูกป่าทดแทนจะต้องชำระเงินค่าปลูกป่าให้กรมป่าไม้ภายใน 5 ปีนับจากวันเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม พื้นที่วัดที่ขออนุญาตใช้พื้นที่ในเขตป่าจะขอใช้พื้นที่ได้ไม่เกิน 15 ไร่ อนุญาตให้ใช้ประโยชน์คราวละ 30 ปี แต่สามารถต่อใบอนุญาตเข้าทำประโยชน์ได้หากปฏิบัติตามข้อบังคับของกรมป่าไม้ซึ่งที่ผ่านมามีวัดมาขอใช้ประโยชน์ประมาณ 45,000 กว่าไร่ทั่วประเทศเพื่อให้พระสงฆ์มีส่วนร่วมในการช่วยดูแลป่าไม้ โดยต้นไม้ที่ปลูกในวัด พระสงฆ์ไม่สามารถตัดต้นไม้ได้ โดยรองอธิบดีกรมป่าไม้ ยอมรับว่า กรมป่าไม้ก่อตั้งมา 128 ปี มีข้าราชการและลูกจ้างกว่า 10,000 คนแต่ต้องดูแลพื้นที่กว่า 60 ล้านไร่ ถือเป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้นหากประชาชนพบความไม่ชอบมาพากล สามารถแจ้งกรมป่าไม้ในพื้นที่ได้เล
โฆษกกรมป่าไม้ กล่าวต่อว่า อธิบดีกรมป่าไม้ได้สั่งการให้สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 (เชียงราย) ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบการใช้ประโยชน์ของศูนย์วิปัสสนาไร่เชิญตะวัน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 22 ต.ค. โดยมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพุทธศาสนาจังหวัดเชียงราย เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่มูลนิธิวิมุตตยาลัย เข้าร่วมตรวจสอบพื้นที่ จำนวน 3 แปลง โดยได้รับรายงานจากการตรวจสอบพื้นที่ตามขอบเขตแปลงโดยใช้เครื่องตรวจวัดหาค่าพิกัดจากดาวเทียม (GPS) ปรากฏว่า แปลงที่ 1 ได้เนื้อที่ประมาณ 113 ไร่ 1 งาน 70 ตารางวา แปลงที่ 2 เนื้อที่ประมาณ 14 ไร่ 3 งาน 90 ตารางวา แปลงที่ 3 เนื้อที่ประมาณ 11 ไร่ 2 งาน 55 ตารางวา ซึ่งพื้นที่ทั้ง 3 แปลงที่เข้าตรวจสอบได้ใช้ประโยชน์ตามพื้นที่ที่กรมป่าไม้ได้อนุญาต โดยคณะเจ้าหน้าที่ที่ร่วมกันตรวจสอบได้ลงความเห็นว่า มูลนิธิวิมุตตยาลัยและสำนักงานพุทธศาสนาจังหวัดเชียงรายได้ครอบครองใช้ประโยชน์พื้นที่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่ในขอบเขตตามหนังสือที่ได้รับอนุญาต
นอกจากนี้ คณะเจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันตรวจสอบบริเวณพื้นที่ขออนุญาตได้ติดป้ายประกาศกรมป่าไม้อนุญาตให้สำนักพุทธศาสนาแห่งชาติเข้าทำประโยชน์ป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยปุย ท้องที่ตำบลห้วยสัก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย แห่งนี้ตามกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติแล้ว เพื่อสร้างศูนย์วิปัสสนาไร่เชิญตะวันและป้ายประกาศกรมป่าไม้ อนุญาตให้สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติเข้าทำประโยชน์ป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยปุย ท้องที่ตำบลห้วยสัก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย แห่งนี้ตามกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติแล้ว เพื่อเป็นสถานที่จัดตั้งวัดไร่เชิญตะวัน และป้ายประกาศกรมป่าไม้ อนุญาตให้มูลนิธิวิมุตตยาลัยเข้าทำประโยชน์ป่าสงวนแห่งชาติป่าดอยปุย ท้องที่ตำบลห้วยสัก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย แห่งนี้ตามกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติแล้ว เพื่อสร้างเป็นสถานที่ตั้งมหาลัยวิชชาลัยพุทธเศรษฐศาสตร์ ธรรมสมโภช ๗๕๐ ปี รัตนบุรีเชียงราย โรงเรียนชาวนาพุทธเศรษฐศาสตร์ และเพื่อขอใช้เป็นสถานที่วิปัสสนากรรมฐาน และได้มีการฝังหลักเขตบริเวณรอบแปลงแสดงแนวเขตพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต .513.-สำนักข่าวไทย