วอชิงตัน 25 ต.ค.- ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ คะแนนเสียงของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะไม่ใช่เสียงชี้ขาดผู้สมัครที่จะเป็นผู้ชนะโดยตรง แต่เป็นเสียงของ “คณะผู้เลือกตั้ง” ที่จะลงคะแนนเลือกผู้สมัคร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นไปตามเสียงของประชาชน
ข้อมูลจากเอกสารวิชาการ Academic Focus เดือนมกราคม 2560 ในคลังสารสนเทศของสถาบันนิติบัญญัติ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรของไทยอธิบายไว้ว่า คณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) เป็นระบบการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยทางอ้อม เนื่องจากผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่เสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ.1787 เกรงว่า ประชาชนจะไม่มีวิจารณญาณที่ดีเพียงพอที่จะเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ดีได้ จึงสร้างระบบคณะผู้เลือกตั้ง เพื่อให้ผู้เลือกตั้ง (Elector) จากแต่ละรัฐเดินทางมาร่วมประชุมเลือกประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี ขณะเดียวกันการใช้ระบบนี้ทำให้ประธานาธิบดีมีความอิสระจากรัฐสภา เพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้งจากสมาชิกรัฐสภา ขณะที่ผู้เลือกตั้งไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลาง และทำหน้าที่ได้เพียงครั้งเดียว จึงไม่มีอิทธิพลต่อการเลือกตั้ง
คณะผู้เลือกตั้งมาจากไหน ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะเลือกคณะผู้เลือกตั้งพร้อมกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี โดยที่แต่ละรัฐจะมีวิธีการเลือกแตกต่างกันไปตามกฎหมายระดับรัฐ บางรัฐอาจพิมพ์ชื่อผู้สมัครเป็นผู้เลือกตั้งในบัตรลงคะแนนเดียวกับผู้สมัครเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดี บางรัฐอาจพิมพ์บัตรลงคะแนนแยกออกไป
ปัจจุบันจำนวนคณะผู้เลือกตั้งมีทั้งหมด 538 คน เป็นไปตามจำนวนสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 100 คน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) 435 คน จากทั้งหมด 50 รัฐ รวมกับคณะผู้เลือกตั้ง 3 คน จากกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.ที่เป็นเขตที่ตั้งพิเศษ แต่ละรัฐมีจำนวน สส.ตามสัดส่วนจำนวนประชากร แต่มี สว.รัฐละ 2 คนเท่ากัน ดังนั้นรัฐที่มีประชากรมากจึงมีคะแนนคณะผู้เลือกตั้งมากไปตามด้วย รัฐแคลิฟอร์เนียที่มีประชากรมากที่สุด การเลือกตั้งปีนี้มีคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง 54 คน ส่วนรัฐที่มีประชากรเบาบาง เช่น อะแลสกา ไวโอมิง มีคะแนนคณะผู้เลือกตั้ง 3 คนตามจำนวน สส.1 คน และ สว.2 คน ผู้สมัครที่จะได้เป็นผู้ชนะการเลือกตั้งประนาธิบดีจะต้องได้คะแนนคณะผู้เลือกตั้งเกินครึ่งหนึ่ง คือ อย่างน้อย 270 คน
การจะได้คะแนนคณะผู้เลือกตั้ง (electoral vote) ตัดสินจากคะแนนที่ผู้สมัครได้รับจากคะแนนของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (popular vote) โดยใช้ระบบ winner-take-all คือ ผู้ชนะคะแนนประชาชนในรัฐใด จะได้คะแนนคณะผู้เลือกตั้งทั้งหมดในรัฐนั้น ยกเว้นรัฐเนแบรสกาและรัฐเมนที่จะจัดสรรคะแนนคณะผู้เลือกตั้งตามคะแนนประชาชน
ดังนั้นผู้สมัครที่ได้คะแนนประชาชนมากที่สุด จึงอาจไม่ใช่ผู้ชนะเสมอไป ดังกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งปี 2559 ที่ฮิลลารี คลินตัน จากพรรคเดโมแครตได้คะแนนประชาชน 63.9 ล้านคะแนน มากกว่าโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกันที่ได้ 62.1 ล้านคะแนน แต่เธอได้คะแนนคณะผู้เลือกตั้ง 232 คน น้อยกว่าทรัมป์ที่ได้ 290 คน ทรัมป์จึงเป็นผู้ชนะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 45
และหลังจากเสร็จสิ้นการเลือกตั้งของประชาชน คณะผู้เลือกตั้งจะประชุมกันที่เมืองเอกของรัฐตนเองราวกลางเดือนธันวาคม เพื่อลงคะแนนเลือกผู้สมัคร แล้วส่งบัตรลงคะแนนไปยังรัฐสภา ซึ่งจะมีการนับคะแนนต่อหน้า สส.และสว.ในสมัยประชุมถัดไปในเดือนมกราคม และประกาศชื่อผู้ชนะเป็นประธานาธิบดีและรองประธานาธิบดีคนต่อไป
อย่างไรก็ดี หลังจากพบว่าการใช้ระบบคณะผู้เลือกตั้งมีข้อบกพร่องเกิดขึ้นหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการเลือกตั้งปี 2563 ที่ทรัมป์อ้างว่าถูกโกงการเลือกตั้งทำให้พ่ายแพ้แก่โจ ไบเดนจากพรรคเดโมแครต และพยายามกดดันให้เจ้าหน้าที่ระดับรัฐเปลี่ยนแปลงผลคะแนนตามที่อัยการฟ้องร้องทรัมป์ สมาชิกรัฐสภาสหรัฐจึงได้ผ่านร่างกฎหมายปฏิรูปการนับคะแนนผู้เลือกตั้งในปี 2565 ให้อำนาจผู้ว่าการรัฐหรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับเลือก เป็นผู้ทำหน้าที่รับรองผลคะแนนคณะผู้เลือกตั้งในแต่ละรัฐก่อนส่งไปยังรัฐสภา นอกจากนี้ยังขีดเส้นตายให้ต้องรับรองผลให้เสร็จสิ้นภายใน 36 วันหลังวันเลือกตั้ง ส่วนการจะไปไกลถึงขั้นยกเลิกการใช้ระบบคณะผู้เลือกตั้ง จะทำได้ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น.-814.-สำนักข่าวไทย