กรุงเทพฯ 12 ก.ค.-ส.อ.ท. อยู่ระหว่างประชุมหารือร่วมกับ 47 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 11 คลัสเตอร์ รวบรวมข้อมูลผลกระทบจากมาตรการเก็บภาษีนำเข้าสินค้า 36% ของสหรัฐฯ ซึ่งสูงกว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาค เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงข้อมูล ส่งต่อให้ทีมไทยแลนด์ใช้ประกอบการเจรจากับสหรัฐฯ ก่อนเส้นตาย 1 ส.ค.นี้
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลสหรัฐฯ ได้บรรลุข้อตกลงลดภาษีนำเข้ากับเวียดนามและสหราชอาณาจักรแล้ว ขณะที่จีนและสหภาพยุโรปอยู่ระหว่างการเจรจา โดยเฉพาะจีนที่กำลังอยู่ในช่วง “การพักชำระภาษีชั่วคราว” (Tariff Truce) ซึ่งจะสิ้นสุดกลางเดือนสิงหาคมนี้ จึงถือเป็นช่วงเวลาวิกฤตที่ไทยต้องเร่งผลักดันข้อมูลและข้อเสนอไปยังทีมเจรจาโดยเร็ว
ส.อ.ท. กำลังจัดทำข้อมูลเปรียบเทียบอัตราภาษีจาก 22 ประเทศที่อยู่ภายใต้มาตรการตอบโต้ของสหรัฐฯ เพื่อวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนเป็นรายกลุ่มอุตสาหกรรม โดยยังรอข้อมูลจากบางประเทศ เช่น อินเดีย ซึ่งยังไม่มีประกาศอัตราภาษีที่ชัดเจน ทั้งนี้เพื่อจัดลำดับความเสียเปรียบและความเร่งด่วนของสินค้าแต่ละกลุ่มก่อนนำเสนอทีมไทยแลนด์ ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินการเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ
กลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบสูงจากมาตรการดังกล่าว ได้แก่ เครื่องจักรกล เครื่องจักรไฟฟ้า ยาง เฟอร์นิเจอร์ ชิ้นส่วนรถยนต์ ของเล่น เหล็ก หนัง และเซรามิก ซึ่งบางรายการมีสัดส่วนการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ สูงถึงกว่า 35% ของมูลค่าส่งออก หากไม่สามารถลดอัตราภาษีลงได้ อาจทำให้ผู้ส่งออกไทยสูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันและส่วนแบ่งตลาดในระยะยาว
จากสถานการณ์ดังกล่าว ส.อ.ท. เตรียมเสนอ 4 มาตรการเร่งด่วนต่อรัฐบาล เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาษีศุลกากร และรักษาความสามารถในการแข่งขันของไทยในระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้
1.มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ
-จัดทำสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) หรือพักชำระหนี้ พร้อมลดดอกเบี้ย
-ลดภาษีนิติบุคคลสำหรับผู้ส่งออกที่ได้รับผลกระทบ
-สนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ เช่น ค่าบริการหน้าท่า พิธีการศุลกากร ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า
-ให้นำค่าใช้จ่ายการจ้างสำนักงานกฎหมายในสหรัฐฯ เพื่อศึกษาหรือเจรจา มาหักลดหย่อนภาษีได้ 3 เท่า (ตามเกณฑ์ที่รัฐจะกำหนด)
2.ส่งเสริมการเปิดตลาดใหม่ทั้งในและต่างประเทศ
-เร่งการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) ฉบับใหม่
-ส่งเสริมโครงการ SME Pro-active และกิจกรรมขยายตลาดต่างประเทศ
-สนับสนุนโครงการ Made in Thailand (MiT) ให้ภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างสินค้าไทย
-ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมสามารถหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า
-สิทธิประโยชน์ที่ได้รับสามารถแลกรับเงินคืนปลายปีตามเงื่อนไข
3.ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบในประเทศ (Local Content)
-ลดภาษีนิติบุคคลสำหรับผู้ใช้วัตถุดิบภายในประเทศเกิน 90%
-ส่งเสริมการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผ่านมาตรการ BOI
4.ควบคุมความผันผวนของค่าเงินบาท
-เสนอให้รัฐดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าหรือผันผวนเกินกว่าประเทศคู่แข่งในภูมิภาค เพื่อคงความได้เปรียบด้านต้นทุนการส่งออก
ข้อมูลล่าสุดระบุว่า การส่งออกคิดเป็นสัดส่วนกว่า 58% ของ GDP โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมคิดเป็นกว่า 47% ของ GDP หากไม่มีมาตรการรองรับ ส.อ.ท. ประเมินว่า ความเสียหายต่อภาคการส่งออกอาจสูงถึง 800,000–900,000 ล้านบาท และอัตราการเติบโตของการส่งออกทั้งปีอาจลดลงใกล้ศูนย์ แม้ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา การส่งออกของไทยจะยังเติบโตต่อเนื่องถึง 18.35% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
“นี่คือวิกฤตการค้าระดับชาติที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ส.อ.ท. จึงขอเชิญชวนทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ร่วมกันฝ่าวิกฤตครั้งนี้ เพื่อเปลี่ยนความท้าทายให้เป็นโอกาสในการยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมและการส่งออกของไทยให้แข่งขันได้อย่างยั่งยืน” นายเกรียงไกรกล่าว.-512.-สำนักข่าวไทย