รัฐสภา 24 ต.ค.-สภาไม่รับข้อสังเกตรายงาน กมธ.ศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ส่งแต่ตัวรายงานให้ ครม. ด้านประธาน กมธ. ย้ำไม่มีเรื่องแก้ ม.112 เป็นเพียงเปิดทางรับทราบข้อเท็จจริง และสมัยประชุมหน้ามีร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมทางการเมืองรอ 4 ฉบับ
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ช่วงบ่ายวันนี้ (24 ต.ค.) มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม
น.ส.ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ กรรมาธิการฯ อภิปรายว่า การนิรโทษกรรมทางการเมืองเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนในยุคนี้ ในเมื่อนักการเมือง จับมือกันได้ ทำไมถึงมีปัญหากับการนิรโทษกรรมให้กับประชาชน ซึ่งการนิรโทษกรรมคือความหวังของพี่น้องประชาชน และเมื่อถามแกนนำผู้ชุมนุมทุกคน ที่มาชี้แจงต่อกรรมาธิการฯทุกคนเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมโดยรวมคดีมาตรา112 ซึ่งการนิรโทษกรรม ไม่ใช่การแก้ไขกฎหมาย หรือยกเลิกกฎหมาย แต่ทำให้ประชาชนได้กลับไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ และถ้าไม่รวม มาตรา112 ก็ไม่เห็นประโยชน์อะไร ที่จะมานิรโทษกรรม เพราะคดีส่วนใหญ่ที่ตนว่าความเกือบร้อยละ 90มาจากมาตรการตรา 112
นายชัยธวัช ตุลาธน กรรมาธิการฯ กล่าวว่า ในอดีตเราเคยมีการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 มาแล้ว กรณี 6 ตุลา ฯ แลัในข้อเท็จจริงปฏิเสธไม่ได้ว่า แม้จำนวนคดี112 อาจจะดูน้อย แต่คดีทางการเมืองที่เป็นความขัดแย้ง มีการโต้เถียงกัน มีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีกระบวนการยุติธรรมมีปัญหา ไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ในกระบวนการยุติธรรมอย่างที่ควรจะเป็นนั้น ล้วนแล้วแต่อยู่ที่คดีตามมาตรา 112 ทั้งสิ้น ปรากฏการณ์ที่เราถกเถียงกันในสภาในหลายครั้งก็สะท้อนชัดเจนว่า เรื่องคดีตามมาตรา 112 เป็นความขัดแย้งที่มีนัยสำคัญอย่างแหลมคมในการเมืองไทยในปัจจุบัน ดังนั้นหากเราไม่พิจารณานิรโทษกรรมตามคดี 112 ด้วย จะคลี่คลายความขัดแย้งได้จริงหรือไม่ จึงเป็นที่มาข้อเสนอทางเลือกอีกทางเลือกหนึ่งในรายงานนิรโทษกรรม ซึ่งเข้าใจฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดี 112 ทั้งหมดทีเดียวเลย กับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยด้วยเหตุผลต่างๆ จึงเป็นที่มาว่าเรามีพื้นที่ตรงกลางที่พอจะยอมรับร่วมกันได้หรือไม่ คือการพิจารณานิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 อย่างมีเงื่อนไข โดยมีคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณา
นายชัยธวัช กล่าวว่า เราให้อำนาจกับคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาตามกฎหมาย ในการตั้งกระบวนการกำหนดเงื่อนไข กำหนดมาตรการในการพิจารณาเป็นรายคดีว่าคดีตามมาตรา 112 แต่ละคดีมีรายละเอียดอย่างไร และควรจะให้สิทธิ์ในการพิจารณานิรโทษกรรมหรือไม่ เช่น รูปธรรม อาจจะเป็นกระบวนการที่ต้้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดได้มีโอกาสที่จะแถลงข้อเท็จจริง ว่าเหตุอะไรที่ทำให้พวกเขามีพฤติกรรมแบบนั้นจนถูกดำเนินคดี เพื่อเป็นโอกาสที่เรารับฟังผู้ที่ถูกกล่าวหาแล้วปรับความเข้าใจ ลดช่องว่างของความเข้าใจซึ่งกันและกันให้ได้มากที่สุด ให้ผู้ที่ถูกกล่าวหามีโอกาสสานเสวนากับผู้เห็นต่าง รวมถึงฝ่ายความมั่นคงและรัฐบาลในการรับฟัง ให้ข้อเท็จจริงอีกด้าน แลกเปลี่ยนความเห็นที่แตกต่างกัน เราอาจจะได้ข้อมูลและความเห็นที่เป็นประโยชน์ในการนำไปสู่ความปรองดอง สุดท้ายกระบวนการนี้ เราสามารถนำไปสู่การกำหนดเงื่อนไขได้ว่า ถ้ายอมที่จะเข้าสู่กระบวนการ พิจารณานิรโทษกรรม จะต้องกระทำการแบบไหนบ้าง ในช่วงเวลาที่กำหนด ระหว่างนั้นก็พัก การดำเนินคดี พักการรับโทษไปก่อน และเมื่อถึงเวลาก็สามารถเข้าสู่การนิรโทษกรรมได้อย่างสมบูรณ์ และเราอาจจะใช้โอกาสนี้ในการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ที่จะปกป้องส่งเสริมความมั่นคงของสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมไทย
นายจาตุรนต์ ฉายแสง กรรมาธิการฯ กล่าวว่า ต้องกล่าวถึงความเป็นมาก่อนที่จะมาเกิดรายงานนี้ พบว่ามีความขัดแย้งเกิดขึ้นหรือต่อเนื่องกันมา 20 ปี มีบางพรรค มีประชาชน เสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเข้ามาที่สภาแห่งนี้ มีการหารือกันพิจารณากันแล้ว เพื่อไทยได้ตัดสินใจว่าต้องการให้สส ทั้งหลายมีความคิดเห็น มีการศึกษากันอย่างให้จริงจังถ่องแท้เสียก่อน ที่จะไปพิจารณาร่างพระราชบัญญัติหล่านั้น พรรคเพื่อไทยจึงได้เสนอ ญัตติตั้งกรรมาธิการคณะนี้ มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคเพื่อไทยเป็นประธาน สมาชิกจากทุกพรรคเข้ามาเป็นกรรมาธิการฯ โดยไม่มีกรรมาธิการฯคนใดมีความเห็นหรือแสดงความเห็นแตกต่างว่าไม่เห็นชอบกับรายงาน จะมีความแตกต่างกันที่บันทึกไว้ ก็คือมีความเห็นต่อการนิรโทษกรรมคดีที่มีความอ่อนไหว ซึ่งเขาก็เปิดโอกาสให้กรรมาธิการแต่ละคนให้ความเห็นส่วนตัวเป็นบันทึกเอาไว้
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า รายงานนี้ได้ตอบคำถามสิ่งที่ประชาชนต้องการ คือการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งของสังคมไทยใน 20 ปีมานี้ เขาถึงได้บอกว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไขความขัดแย้งที่มีมานาน การนิรโทษกรรมเป็นความจำเป็นเร่งด่วน อันจะนำมาซึ่งความปรองดองสมานฉันท์ และทำให้สังคมคืนสู่สภาพปกติ ถ้าเราไม่เห็นชอบข้อสังเกตเท่ากับเราไม่เห็นชอบกับข้อความนี้ แต่ข้อความนี้มันจะช่วยตอบคำถามแก้ปัญหาคลี่คลายความขัดแย้งทางสังคมได้ แม้แก้ไม่ได้หมด และการนิรโทษได้นำมาใช้หลายครั้ง เฉพาะปี 48 มาถึงปัจจุบัน มีการนิรโทษกรรม งคณะรัฐประหาร โดยนิรโทษกรรมให้ตนเองไปอย่างสบายสบาย และต้นเหตุทำให้มีผู้มาสนับสนุนการรัฐประหารก็เกิดเป็นคดีการเมือง มีผู้ต่อต้านการรัฐประหาร ก็เกิดเป็นคดีการเมือง มีผู้ไม่เห็นด้วยกับการปกครองของคณะรัฐประหารก็เป็นคดีที่เกิดจากแรงจูงใจทางการเมืองคณะรัฐประหาร นิรโทษตัวเองไปแล้ว แต่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายทุกฝ่ายยังต้องอยู่กับการถูกดำเนินคดีถูกลงโทษ ทั้งๆที่เป็นเรื่องคดีทางการเมือง กรรมาธิการบางคนอภิปรายว่า จะนิรโทษกรรมต้องยอมรับสารภาพว่าผิดเสียก่อน อันนั้นท่านเข้าใจผิด การนิรโทษกรรมในอดีตไม่ใช่อย่างนั้น การนิรโทษกรรมในอดีตในกรณีของ6ตุลา เขานิรโทษไม่ใช่ว่านักศึกษายอมรับกระทำผิด เพราะนักศึกษาไม่ได้ทำผิดอะไรเลย แต่เขาตั้งข้อหากล่าวหาร้ายแรงขึ้นศาลทหาร สุดท้ายพิจารณากันไปทั่วโลกประณามการรัฐไทยที่ไปทำอย่างนั้นกับนักศึกษาประชาชน ในที่สุดรัฐบาลในขณะนั้นจึงต้องนิรโทษกรรมทุกคนในเหตุการณ์ ซึ่งความจริงแล้วเป็นการนิรโทษผู้ที่สั่งให้ฆ่านักศึกษาประชาชนด้วยซ้ำ แต่ประชาชนได้ ด้วย
นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ส่วนกรณีที่จะใช้คำว่าคดีที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง กรณีนี้ ฟังดูแล้วมีผู้ห่วงว่า รายงานนี้จะทำให้เกิดการแก้ไขการนิรโทษ เรื่องที่เกี่ยวกับมาตรา112 ขอย้ำว่าไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับการนิรโทษคดี 112 วันนี้ไม่ใช่การเสนอพ.ร .บ. แก้ไขมาตรา 112 แต่ควรจะตั้งคำถามว่า คดีเกี่ยวกับมาตรา 112 เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง หรือความขัดแย้งในสังคมไทยหรือไม่ ถ้ามีเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองและความขัดแย้งทางสังคมที่ไปโยงกับมาตรา112 เราจะแก้ปัญหาความขัดแย้งทางสังคมกันอย่างไร แล้วจะทำยังไงกับการบังคับใช้กฎหมายนี้ เป็นเรื่องที่ต้องศึกษากันต่อ และไม่ใช่ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นวาระโอกาสที่พรรคการเมืองจะมาแข่งกัน แสดงความจงรักภักดี ว่าจะเห็นด้วยกับการนิรโทษก็แสดงว่าไม่จงรักภักดี
ด้านนายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า รายงานนี้มิใช่การเสนอกฎหมาย ว่าจะนิรโทษกรรมการกระทำอะไรมาตราอะไร เข้าใจว่า หลายท่านที่อภิปรายไป คงเข้าใจตรงกันแล้วว่า รายงานนี้เป็นเพียงการศึกษาหาแนวทางในการตรากฎหมายหรือตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมว่ามาควรจะเป็นอย่างไร จะนิรโทษกรรมการกระทำอะไรบ้าง แต่โดยนัย มีความหมายเรื่องแรกก็คือ ให้มีการนิรโทษกรรมการกระทำทางการเมือง ที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา ซึ่งทุกคนเห็นด้วย คือวไม่ได้ฟันธงเรื่องว่าจะมีนิรโทษกรรม มาตรา 112 หรือไม่ เป็นเพียงความเห็นกว้างๆ 3 ทาง และเราสรุปไว้ในข้อสรุปท้ายว่า เรื่องนี้ยังเป็นประเด็นอ่อนไหว ยังมีความเห็นขัดแย้ง ตนคิดว่าโดยส่วนตัวของกรรมาธิการฯมีความรู้สึกว่าประเด็นใดที่ยังไม่มีข้อยุติ ทางออกของประเทศที่ดีที่สุดก็คือการรับรู้รับทราบ ข้อเท็จจริงทุกฝ่ายว่าเขามีความเห็นอย่างไร ท้ายสุดแล้วถ้าเราไม่ทราบข้อเท็จจริง ไม่รับทราบเหตุการณ์การกระทำที่เกิดขึ้นทั้งหลาย ผลสุดท้ายจะกลายเป็นว่า ว่าเราจะตรากฎหมายโดยไม่รอบคอบ ไม่ระมัดระวัง และจะกลายเป็นปัญหาของสังคมในอนาคต ความจริงตนเชื่อว่ารายงานเนี้เป็นประโยชน์สำหรับสมาชิกที่จะนำไปศึกษา ที่ประกอบการพิจารณา ว่าถ้าเราจะตรากฎหมายนิรโทษกรรม แล้วควรจะคำนึงถึงอะไรบ้าง ควรจะมีสาระสำคัญอย่างไร
นายชูศักดิ์ กล่าวด้วยว่า อย่างน้อยที่สุด เปิดประชุมสมัยหน้ามา จะมี ร่างกฎหมาย 4 ร่างกฎหมาย ที่พวกเราคงจะต้องมาพิจารณาร่วมากันอีกครั้งหนึ่ง โดยมีร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่บุคคลลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ขัดแย้งทางการเมือง พ ศ เสนอโดยนายชัยธวัช ตุลาธน มีร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสันติสุข ของนายปรีดา บุญเพลิง ร่างพ.ร.บ. สร้างเสริมสันติสุข พ.ศ. ของนายพิชัย สุขสวาสดิ์ และร่างพระราชบัญญ.การนิรโทษกรรมประชาชน เสนอโดยนายพูนสุข พูนสุขเจริญ กับประชาชน 36,400 กว่าคน ซึ่งร่างกฎหมายเหล่านี้อยู่ในระเบียบวาระ
ภายหลังเปิดให้กรรมาธิการและสมาชิกชี้แจง สุดท้ายที่ประชุมฯ ได้ลงมติเกี่ยวกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ ปรากฎว่า ที่ประชุมเสียงข้างมาก มีมติ 268 ต่อ 149 เสียง ไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ โดยมีผู้งดออกเสียง 5 คน ทำให้ข้อสังเกตตกไป โดยสภาจะส่งเฉพาะรายงานให้ ครม.เท่านั้น
ทั้งนี้ ในช่วงท้ายก่อนการลงมติ บรรยากาศภายในห้องประชุมเป็นไปอย่างเข้มข้น เมื่อนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุมได้ให้สมาชิกแจ้งว่ามีใครไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการหรือไม่ พร้อมกับผู้รับรอง
ทำให้ นพ.ชลน่าน สส.น่าน พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นประท้วง และแย้งว่า ประธานฯ ทำผิดข้อบังคับ เพราะเมื่อสภาฯ มีข้อสังเกตต้องให้ลงมติ ไม่ใช่เสนอญัตติ โดยจะต้องถามว่าใครเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ปรากฏว่า นายพิเชษฐ์ได้โต้แย้งอย่างมีอารมณ์ว่า ก็ลงมติไงครับ จนนายแพทย์ชลน่าน ชี้หน้าว่า “หากท่านทำไม่ได้ก็เปลี่ยนให้รองประธานสภาฯ คนที่ 2 เถอะครับ” ซึ่งนายพิเชษฐ์ ได้กล่าวอย่างมีอารมณ์ว่าไม่ต้องชี้หน้า.-312.-สำนักข่าวไทย