04 ตุลาคม 2566
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
บทสรุป :
1.คาบการโคจรของดวงจันทร์ไม่ส่งผลต่อจำนวนผู้ป่วยทางจิตที่รักษาตัวในโรงพยาบาล
2.แรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์ที่มีต่อปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลง ไม่ส่งผลต่อน้ำในร่างกายหรือสมองของมนุษย์
3.แสงสว่างในคืนพระจันทร์เต็มดวง อาจทำให้ผู้ป่วยโรคอารมณ์สองขั้วนอนหลับไม่เพียงพอจนอาการกำเริบ แต่ไม่มีหลักฐานว่าส่งผลต่อจิตใจโดยตรง
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
การเชื่อมโยงอาการผิดปกติทางจิตกับคืนพระจันทร์เต็มดวง (Lunar Lunacy Effect) มีมาอย่างช้านาน หลักฐานสะท้อนผ่านวรรณกรรมจนถึงเรื่องเล่าจากหลายวัฒนธรรม แม้แต่ ลูนา เทพีดวงจันทร์ของชาวกรีก ยังถูกนำมาเรียกอาการป่วยทางจิตในอดีตหรือ Lunatic
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
ที่มาความเชื่อ
นักปราชญ์โบราณในสมัยกรีกและโรมัน อาทิ อาริสโตเติล ฮิปโปเครทีส และพลินีผู้อาวุโส ต่างมีความเชื่อเรื่องอิทธิพลของดวงจันทร์ต่อสรรพสิ่งบนโลก นอกจากปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลงแล้ว ยังเชื่อว่าดวงจันทร์ยังส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้คน
ในอดีตมีความเชื่อว่าสมองคืออวัยวะที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบมากที่สุดในร่างกาย แรงดึงดูดของดวงจันทร์ในคืนวันเพ็ญจึงส่งผลต่อความผิดปกติในจิตใจของมนุษย์ กลายเป็นที่มาของความเชื่อว่า พฤติกรรมก้าวร้าว อาการซึมเศร้า รวมถึงความคิดการฆ่าตัวตาย จะเกิดบ่อยขึ้นในช่วงที่พระจันทร์เต็มดวง
ความเชื่อดังกล่าว ยังพบในกลุ่มคนที่ทำงานด้านสาธารณสุข เมื่องานวิจัยปี 1987 พบว่า มีแพทย์ห้องฉุกเฉิน 64% และพยาบาลห้องฉุกเฉิน 80% เชื่อว่าคาบการโคจรของดวงจันทร์มีผลต่อการเจ็บป่วยของคนไข้ โดย 92% ของกลุ่มพยาบาลบอกว่าการทำงานในคืนพระจันทร์เต็มดวงมีความตึงเครียดมากกว่าปกติ และควรจะได้ค่าตอบแทนมากกว่าวันอื่น ๆ
งานวิจัยหักล้าง Lunar Lunacy Effect
อย่างไรก็ดี มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันว่า คาบการโคจรของดวงจันทร์ไม่มีผลต่อพฤติกรรมมนุษย์หรือส่งผลต่อผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางจิตแต่อย่างใด
งานวิจัยปี 2017 มีการสำรวจจำนวนผู้ป่วยทางจิตที่ส่งตัวมารักษายังห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลในช่วง 4 คาบการวงโคจรของดวงจันทร์ (แรม 8 ค่ำ แรม 15 ค่ำ ขึ้น 8 ค่ำ ขึ้น 15 ค่ำ) เป็นเวลา 41 สัปดาห์ ก่อนพบว่าจำนวนผู้ป่วยในแต่ละคาบการโคจรของดวงจันทร์แทบไม่มีความแตกต่างกัน
งานวิจัยปี 2019 ที่สำรวจประวัติการเข้ารักษาตัวและระยะเวลารักษาตัวของผู้ป่วยในสถานพยาบาลสำหรับผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตจำนวนเกือบ 18,000 ราย ผลวิจัยไม่พบความแตกต่างของการเข้ารักษาตัวและระยะเวลารักษาตัวของผู้ป่วยในช่วง 4 คาบการโคจรของดวงจันทร์เช่นเดียวกัน
เจเนวิล เบลเลวิลล์ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยลาวาล ประเทศแคนาดา เจ้าของงานวิจัยปี 2012 ที่สำรวจการรักษาตัวของผู้ป่วยจำนวน 771 รายระหว่างปี 2005 ถึง 2008 โดยผู้ป่วยเหล่านี้ถูกส่งตัวเข้าห้องฉุกเฉินจากอาการเจ็บหน้าอกโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งภายหลังได้รับการวินิจฉัยว่ามีสาเหตุจากความผิดปกติทางจิตใจ โดยผลวิจัยพบว่าจำนวนผู้ป่วยไม่มีความสอดคล้องกับคาบการโคจรของดวงจันทร์เช่นเดียวกัน
เจเนวิล เบลเลวิลล์ ย้ำว่าผลวิจัยจะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์เลิกเชื่อในอิทธิพลของดวงจันทร์ต่อความผิดปกติทางจิต เพราะนอกจากจะทำให้บุคลากรทางการแพทย์วินิจฉัยอาการผู้ป่วยทางจิตในคืนพระจันทร์เต็มดวงอย่างไม่เหมาะสมแล้ว ยังอาจทำให้บุคลากรทางการแพทย์ลดความใส่ใจสุขภาพผู้ป่วยทางจิตในช่วงอื่น ๆ ของเดือนเช่นกัน
แรงโน้มถ่วงดวงจันทร์กับจิตใจ
สก็อตต์ โอ. ลิเลียนฟีลด์ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเอมโมรี และ ฮาล อาร์โควิทซ์ ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยแอริโซนา เจ้าของบทความเรื่อง Lunacy and the Full Moon ที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ Scientific American เมื่อปี 2009 ได้หักล้างความเชื่อเรื่องอิทธิพลจากแรงโน้มถ่วงดวงจันทร์ต่อพฤติกรรมมนุษย์เอาไว้ 3 ข้อ ได้แก่
- ผลกระทบจากแรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์มีน้อยเกินไป
ผลกระทบจากแรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์แทบไม่มีผลต่อการทำงานของสมอง จึงเป็นไปไม่ได้ที่คาบการโคจรของดวงจันทร์จะมีผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์
จอร์จ อาเบล นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกันผู้ล่วงลับเคยเปรียบเทียบว่า แรงโน้มถ่วงจากยุงที่บินมาเกาะแขน ยังมีมากกว่าแรงโน้มถ่วงที่ดวงจันทร์กระทำต่อมนุษย์ แต่ก็ไม่มีรายงานความผิดปกติทางจิตเพราะยุงแต่อย่างใด จึงเป็นไปไม่ได้ที่แรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์จะส่งผลต่อมนุษย์
- แรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์มีผลต่อแหล่งน้ำธรรมชาติเท่านั้น
แรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงแหล่งน้ำที่อยู่พื้นผิวโลก เช่นแม่น้ำและมหาสมุทร แต่จะไม่ส่งผลต่อแหล่งน้ำที่บรรจุในภาชนะ จึงไม่มีผลต่อของเหลวในร่างกายหรือสมองของมนุษย์เช่นกัน
- แรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์ในคืนพระจันทร์เต็มดวงเท่ากับคืนพระจันทร์เดือนแรม
แรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์ต่อปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลงสูงสุดหรือน้ำเกิด (Spring Tide) ไม่ได้เกิดเฉพาะในคืนที่พระจันทร์เต็มดวงเท่านั้น (ขึ้น 15 ค่ำ) แต่เกิดในคืนเดือนแรมซึ่งมองไม่เห็นดวงจันทร์เช่นกัน (แรม 15 ค่ำ) เนื่องจากเป็นช่วงที่ โลก ดวงจันทร์ และ ดวงอาทิตย์ โคจรในแนวเดียวกัน ทำให้แรงดึงดูดของดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ทำให้เกิดน้ำขึ้นน้ำลงสูงสุด ต่างจากคืนขึ้น 8 ค่ำและแรม 8 ค่ำ ซึ่ง โลก ดวงจันทร์และ ดวงอาทิตย์ โคจรอยู่ในตำแหน่งมุมฉาก นำไปสู่ปรากฏการณ์น้ำขึ้นลงน้อยหรือน้ำตาย (Neap Tide)
ดังนั้น หากอิทธิพลจากแรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์มีผลต่อพฤติกรรมผู้คนในคืนวันเพ็ญ ก็ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงเดียวกันในคืนเดือนแรมด้วย
Bipolar Disorder
แม้จะได้รับการยืนยันว่าอิทธิพลของดวงจันทร์ไม่มีผลต่อความผิดปกติทางจิต แต่มีงานวิจัยจำนวนหนึ่งที่พบความสัมพันธ์ระหว่างการป่วยทางจิตชนิดไบโพลาร์หรือโรคอารมณ์สองขั้ว ซึ่งผู้ป่วยจะเปลี่ยนจากสภาวะซึมเศร้าผิดปกติเป็นกระตือรือร้นผิดปกติ
งานวิจัยปี 2018 ที่ศึกษาผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ 17 รายพบว่า อาการผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงไปตามคาบการโคจรของดวงจันทร์ ส่งผลให้พฤติกรรมการนอนเปลี่ยนไป และกระตุ้นให้ผู้ป่วยเปลี่ยนจากสภาวะซึมเศร้าเป็นคลุ้มคลั่งได้ง่ายขึ้น
ปี 2019 มีกรณีศึกษาผู้ป่วยหญิงที่มีอาการ Bipolar II Disorder ซึ่งพบว่าอาการเปลี่ยนแปลงไปตามคาบการโคจรของดวงจันทร์เช่นกัน โดยแพทย์ทำการรักษาด้วยการเปลี่ยนยาและใช้แสงบำบัด
อย่างไรก็ดี ข้อมูลการวิจัย Bipolar Disorder และอิทธิพลของดวงจันทร์ยังมีอย่างจำกัด และจำเป็นต้องศึกษาความสัมพันธ์เพิ่มเติมเพื่อยืนยันผลลัพธ์ที่ชัดเจนต่อไป
Cultural Fossil
ชาร์ลส์ แอล. รายซัน ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเอมโมรี และผู้ให้คำปรึกษาด้านจิตวิทยาของสำนักข่าว CNN มองว่า อิทธิพลของดวงจันทร์ต่อความผิดปกติทางจิต อาจจะมีแก่นของความจริงเมื่อนานมาแล้ว
ยุคก่อนการประดิษฐ์หลอดไฟเพื่อให้แสงสว่างยามค่ำคืน แสงจันทร์ในคืนวันเพ็ญมีความสว่างเพียงพอที่จะทำให้ผู้คนที่อาศัยอยู่นอกบ้าน รวมถึงผู้ป่วยทางจิตมีปัญหาด้านการนอนหลับ การนอนหลับที่ไม่เพียงพอทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต เช่น โรคไบโพลาร์มีอาการรุนแรงมากขึ้น
ดังนั้น Lunar Lunacy Effect จึงเปรียบได้กับซากดึกดําบรรพ์ทางวัฒนธรรม (Cultural Fossil) ซึ่งอาจส่งผลต่อผู้คนบางกลุ่มในยุคสมัยหนึ่ง แต่ไม่ส่งผลต่อวิถีชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบันอีกต่อไป
ข้อมูลอ้างอิง :
https://en.wikipedia.org/wiki/Lunatic
https://www.healthline.com/health/full-moon-effects
https://www.scientificamerican.com/article/lunacy-and-the-full-moon/
https://www.sciencedaily.com/releases/2012/11/121119114255.htm
https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/3584923/
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter