ปักกิ่ง 18 ก.ย. — ทีมนักวิทยาศาสตร์ของจีนได้เผยแพร่เอกสารการวิจัยฉบับแรกเมื่อวานนี้ เกี่ยวกับตัวอย่างจากดวงจันทร์ที่นำกลับมายังโลกโดยภารกิจฉางเอ๋อ-6 (Chang’e-6) ซึ่งระบุว่าตัวอย่างจากดวงจันทร์ของฉางเอ๋อ-6 นั้นมี “ลักษณะพิเศษจำเพาะ” เมื่อเทียบกับตัวอย่างจากดวงจันทร์ที่เก็บรวบรวมมาก่อนหน้านี้
สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า การศึกษาดังกล่าวดำเนินการร่วมกันโดยสมาชิกจากหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์แห่งชาติ สถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ศูนย์สำรวจดวงจันทร์และวิศวกรรมอวกาศ และสถาบันวิศวกรรมระบบยานอวกาศปักกิ่ง โดยบทความวิจัยได้รับการเผยแพร่ในวารสาร เนชันแนล ไซแอนซ์ รีวิว (National Science Review) ตรงกับวันเทศกาลไหว้พระจันทร์ตามประเพณี
ทีมวิจัยพบว่าตัวอย่างดินดวงจันทร์ของฉางเอ๋อ-6 มีความหนาแน่นต่ำกว่าตัวอย่างก่อนหน้านี้ โดยมีองค์ประกอบของรูพรุนและโครงสร้างที่ร่วนมากกว่า ส่วนปริมาณแร่พลาจิโอเคลส (plagioclase) ในตัวอย่างจากฉางเอ๋อ-6 สูงกว่าตัวอย่างจากฉางเอ๋อ-5 (Chang’e-5) เป็นอย่างมาก ขณะปริมาณแร่โอลิวีน (olivine) ต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญ
การศึกษาครั้งนี้ยังเผยให้เห็นว่าตัวอย่างชิ้นส่วนหินจากฉางเอ๋อ-6 ประกอบด้วยหินบะซอลต์ หินกรวดเหลี่ยม อนุภาคแอกกลูติเนท (agglutinate) หินแก้ว และหินลิวโคเครต (leucocrate) เป็นส่วนใหญ่
การวิเคราะห์ทางธรณีเคมีตัวอย่างจากดวงจันทร์ของฉางเอ๋อ-6 แสดงให้เห็นว่าความเข้มข้นของธาตุต่างๆ เช่น ทอเรียม ยูเรเนียม และโพแทสเซียม แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดจากตัวอย่างที่เก็บมาจากภารกิจอะพอลโล (Apollo) และภารกิจฉางเอ๋อ-5
ยานฉางเอ๋อ-6 ถูกส่งขึ้นสู่ห้วงอวกาศจากจีนเมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2024 ก่อนกลับมาลงจอดทางตอนเหนือของจีนเมื่วันที่ 25 มิ.ย. ที่ผ่านมา พร้อมนำตัวอย่างที่เก็บรวบรวมจากด้านไกลของดวงจันทร์ น้ำหนักรวม 1,935.3 กรัม กลับมายังโลก.-813.-สำนักข่าวไทย