28 กันยายน 2566
เดือนกันยายนของทุกปี ถือเป็นช่วงครบกำหนดอายุการรับราชการ หรือที่เรียกว่า เกษียณอายุราชการ ทำให้มิจฉาชีพมักอาศัยช่วงเวลาดังกล่าวมาหลอกลวงและแสวงหาผลประโยชน์โดยผิดกฎหมาย จากสถิติการแจ้งความออนไลน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 – 17 กันยายน 2566 พบว่า มีหลายกลโกงที่มักใช้หลอกคนวัยเกษียณ วันนี้ชัวร์ก่อนแชร์ CyberUpdate🚀 จะพาทุกคนไปดูมุกยอดฮิตของเหล่าโจรออนไลน์ว่ามีอะไรกันบ้าง
1. หลอกลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ จำนวน 26,827 เรื่อง มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 14,313 ล้านบาท
🚨กลโกง 🚨 มิจฉาชีพจะสร้างบัญชีทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยแอบอ้างบุคคล หรือบริษัทที่มีชื่อเสียงด้านการลงุทน หลอกลวงผู้เสียหายให้ลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ เช่น ทองคำ เหรียญดิจิทัล พลังงาน เป็นต้น โดยมีการใช้คำโฆษณาสวยหรู อ้างว่าเป็นการลงทุนของผู้สูงวัยใกล้เกษียณอายุ เริ่มต้นลงทุนด้วยเงินหลักพันบาท แต่ได้ผลตอบแทนสูงในเวลาอันรวดเร็ว
อ่านกลโกงเพิ่มเติม : ชวนซื้อหุ้นบริษัทอมตะ รับผลกำไรจำนวนมาก จริงหรือ ?
2. หลอกติดตั้งแอปพลิเคชันควบคุมโทรศัพท์มือถือ จำนวน 8,158 เรื่อง มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 862 ล้านบาท
🚨กลโกง 🚨 มิจฉาชีพจะโทรศัพท์ไปยังผู้เสียหาย ซึ่งเป็นข้าราชการที่เกษียณอายุราชการ หรือกำลังจะเกษียณอายุราชการ แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่กรมบัญชีกลาง แจ้งว่าจะขอทำการตรวจสอบข้อมูลการรับบำนาญให้ทำการลงทะเบียนยืนตัวตน หรือแจ้งว่าจะได้รับเงินประกันบำนาญ ให้ทำการอัปเดตข้อมูล จากนั้นหลอกลวงให้ติดตั้งแอปพลิเคชันกรมบัญชีกลางปลอม “Digital Pension” ผ่านเว็บไซต์ปลอม หรือลิงก์ที่ส่งให้ จากนั้นให้กรอกข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลทางการเงิน สแกนใบหน้า และให้สิทธิการเข้าถึง และควบคุมอุปกรณ์ต่าง ๆ กระทั่งมิจฉาชีพโอนเงินออกจากบัญชีผู้เสียหาย
อ่านกลโกงเพิ่มเติม : โจรอ้างกรมบัญชีกลางลวงอัปเดตข้อมูลดูดเงินหมดบัญชี
3.หลอกให้รักแล้วโอนเงิน (Romance Scam) จำนวน 2,621 มูลค่าความเสียหายรวมกว่า 881 ล้านบาท
มิจฉาชีพจะสร้างโปรไฟล์สื่อสังคมออนไลน์เป็นชาวต่างชาติ เป็นข้าราชการทหาร หน้าตาดี หลอกลวงผู้เสียหายให้หลงรัก มีความเชื่อใจ อยากมาใช้ชีวิตเกษียณอายุกับผู้เสียหายในประเทศ ต่อมาอ้างว่าจะส่งสิ่งของมาให้ แต่ภายในกล่องเป็นเงินหรือทรัพย์สินที่มีมูลค่าสูง หลอกผู้เสียหายให้โอนเงินจ่ายค่าขนส่ง ค่ารับรองต่อต้านการฟอกเงิน ค่าภาษี ไปให้กับมิจฉาชีพ
ตำรวจไซเบอร์แนะแนวทางป้องกันโจรออนไลน์ !
1. ระมัดระวังการชักชวนจากคนที่เพิ่งรู้จัก ไม่เคยเห็นหน้า หรือเป็นคนต่างชาติหน้าตาดี ที่เข้ามาตีสนิทแล้วชวนให้ลงทุนบนแพลตฟอร์ม หรือแอปพลิเคชันต่างประเทศ อ้างว่าลงทุนแล้วได้ผลกำไรสูง การันตีผลกำไรแน่นอน
2.มิจฉาชีพมักอ้างว่ารู้จักผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุน โดยบุคคลที่มักนำรูปและชื่อมาแอบอ้างนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นบุคคลสาธารณะที่มีชื่อเสียงหรือมีความรู้ด้านการลงทุน พร้อมสร้างเว็บไซต์ปลอมเพื่อหลอกลวงผู้เสียหาย
3.หลีกเลี่ยงการลงทุนหรือข้อเสนอที่ฟังดูดีเกินกว่าจะเป็นไปได้
4.ตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต.
5.ระวังการกดลิงก์ที่แนบมากับข้อความสั้น (SMS) หรือที่ส่งมาให้ทางสื่อสังคมออนไลน์ หรือช่องทางที่ให้ติดตั้งแอปพลิเคชันของหน่วยงานนั้น ๆ
6.ระวังการรับโทรศัพท์จากหมายเลขที่ไม่รู้จัก โดยมีการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ ให้ตรวจสอบก่อนว่ามาจากหน่วยงานนั้นจริงหรือไม่ ผ่านหมายเลขคอลเซ็นเตอร์ หรือผ่านเว็บไซต์ทางการของหน่วยงานนั้นโดยตรง
7.การติดตั้งแอปพลิเคชันผ่าน App Store หรือ Play Store จะมีความปลอดภัยมากกว่า แต่จะต้องตรวจสอบว่าแอปพลิเคชันดังกล่าวเป็นของหน่วยงานนั้น จริงหรือไม่ ป้องกันมิจฉาชีพสร้างแอปพลิเคชันปลอมขึ้นมา
8.ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวกับบุคคลอื่น ไม่กรอก หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวลงบนสื่อสังคมออนไลน์
ทีมข่าวไซเบอร์ ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์
ผู้สื่อข่าว : เสาวภาคย์ รัตนพงศ์
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter