ศรต.ยผ.สรุปผลตรวจสอบอาคารที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว

กรุงเทพฯ 31 มี.ค. – ศูนย์รับแจ้งเพื่อตรวจสอบความเสียหายของอาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว เผยผลตรวจสอบอาคาร 3 กลุ่ม พบส่วนใหญ่ไม่ได้รับความเสียหายหนัก ใช้งานได้ปกติ ดำเนินการตรวจสอบแล้ว 808 อาคาร ตั้งแต่วันที่ 28-30 มี.ค. 68 ทั้ง กทม.-ต่างจังหวัด


ศูนย์รับแจ้งเพื่อตรวจสอบความเสียหายของอาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว (ศรต.ยผ.) โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ถนนพระรามที่ 6 ร่วมกับสภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร และวิศวกรอาสาภาคเอกชน จำนวน 155 คน ดำเนินการตรวจสอบอาคารที่มีการแจ้งว่าได้รับความเสียหาย โดยมีการแบ่งอาคารในการตรวจสอบออกเป็น 3 กลุ่ม และขอรายงานผลการดำเนินงานตามการแบ่งกลุ่มอาคาร ดังนี้

อาคารกลุ่มที่ 1 ได้แก่ อาคารภาครัฐ เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน อาคารราชการในเขตกรุงเทพมหานคร โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการตรวจสอบร่วมกับสภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร และวิศวกรอาสาภาคเอกชน ดำเนินการตรวจสอบอาคารที่ได้รับการร้องขอ ในวันที่ 30 มีนาคม 2568 จำนวน 38 หน่วยงาน จำนวน 124 อาคาร สามารถใช้งานได้ปกติจำนวน 117 อาคาร มีความเสียหายปานกลาง สามารถใช้งานได้จำนวน 7 อาคาร และไม่มีอาคารที่มีความเสียหายอย่างหนักและระงับการใช้อาคาร


สรุปดำเนินการตรวจสอบอาคาร สะสมตั้งแต่วันที่ 28-30 มีนาคม 2568 จำนวน 69 หน่วยงาน จำนวน 213 อาคาร สามารถใช้งานได้ปกติจำนวน 190 อาคาร มีความเสียหายปานกลาง สามารถใช้งานได้จำนวน 20 อาคาร โครงสร้างมีความเสียหายอย่างหนัก โดยได้สั่งให้ระงับการใช้งานอาคาร จำนวน 3 อาคาร และทางเชื่อมอาคาร จำนวน 1 แห่ง

อาคารกลุ่มที่ 2 ได้แก่ อาคารสูง โรงแรม คอนโดมิเนียม หอพัก ห้างสรรพสินค้าที่เป็นของภาคเอกชน อาคารเหล่านี้เป็นอาคารที่ต้องมีการตรวจสอบอาคารตามกฎหมายควบคุมอาคารทุกปีอยู่แล้ว กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้แนะนำให้เจ้าของอาคารให้ผู้ตรวจสอบอาคารที่เคยตรวจสอบเข้าดำเนินการตามคู่มือสำรวจความเสียหายขั้นต้นของโครงสร้างอาคารหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวของกรมโยธาธิการและผังเมือง ในกรณีที่ผู้ตรวจสอบอาคารไม่สามารถตรวจสอบอาคารได้ ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองมีผู้ตรวจสอบอาคารที่ขึ้นทะเบียน จำนวนมากกว่า 2,600 ราย สามารถค้นหาผู้ตรวจสอบอาคารได้ผ่านเว็บไซต์กรมโยธาธิการและผังเมือง ปัจจุบันกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดสายด่วนสำหรับขอรับคำปรึกษาและแจ้งเหตุที่หมายเลข 1531/0 2299 4191 และ 0 2299 4312 ตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือด่วนสั่งการให้กรุงเทพมหานคร ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่น แจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารตามมาตรา 32 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ได้แก่ อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารชุมนุมคน โรงมหรสพ โรงแรมตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป โรงงานที่มีความสูงมากกว่า 1 ชั้น และพื้นที่ตั้งแต่ 5,000 ตารางเมตรขึ้นไป สถานบริการที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป อาคารชุดหรืออาคารอยู่อาศัย รวมที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป และป้าย ให้ดำเนินการตรวจสอบสภาพอาคาร โครงสร้างของตัวอาคารและอุปกรณ์ประกอบต่างๆ ของตัวอาคาร รายงานผลการตรวจสอบให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นทราบ พร้อมมาตรการควบคุมกรณีพบว่าอาคารมีความชำรุดในระดับต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจต่อผู้พักอาศัยและผู้ใช้อาคาร


ส่วนอาคารกลุ่มที่ 3 ได้แก่ อาคารบ้านพักอาศัย ตึกแถว ห้องแถว และอาคารทั่วไปในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานครจะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการตรวจสอบให้คำแนะนำและให้คำปรึกษาแก่พี่น้องประชาชน ผ่าน Traffyfondue ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 30 มีนาคม 2568 ได้รับแจ้งทั้งหมด 12,599 เรื่อง และดำเนินการแล้วเสร็จ 10,245 เรื่อง

สำหรับอาคารในต่างจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ทางกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้สั่งการให้โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ดำเนินการตรวจสอบอาคาร ร่วมกับวิศวกรขององค์ปกครองส่วนท้องถิ่นและวิศวกรอาสาของเอกชนในพื้นที่ ร่วมกันดำเนินการเช่นเดียวกับส่วนกลางและให้คำปรึกษาแก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่ โดยสั่งการให้มีการตรวจสอบอาคารสาธารณะ เช่น โรงพยาบาล หรืออาคารหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการใช้อาคาร ปัจจุบันได้มีผลการตรวจสอบอาคารในส่วนจังหวัด 76 จังหวัด จำนวน 595 อาคาร สามารถใช้งานได้ปกติจำนวน 499 อาคาร มีความเสียหายปานกลาง สามารถใช้งานได้จำนวน 92 อาคาร โครงสร้างมีความเสียหายอย่างหนักโดยได้สั่งให้ระงับการใช้งานอาคาร จำนวน 4 อาคาร

สรุปผลการตรวจสอบอาคารที่มีการแจ้งว่าได้รับความเสียหาย ตั้งแต่วันที่ 28-30 มีนาคม 2568 ทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด รวมทั้งสิ้นจำนวน 808 อาคาร นอกจากนี้กรมโยธาธิการและผังเมือง มีช่องทางให้เจ้าของอาคาร ผู้ตรวจสอบอาคาร หรือพี่น้องประชาชน สามารถรับทราบข้อมูลต่างๆ ผ่านช่องทางการประชาสัมพันธ์ของกรมฯ สื่อมวลชน โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ และสื่อออนไลน์

ขณะที่ความคืบหน้าในการดำเนินการรื้อถอนเครนที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว บริเวณริมทางด่วนดินแดง ได้ดำเนินการยึดรั้งส่วนที่เหลือ ค้ำยันพื้น และปิดคลุมส่วน 10 เมตร ให้มีความมั่นคงแข็งแรง และเปิดใช้งานทางด่วนตามปกติแล้ว ตั้งแต่เวลา 05.00 น. ของวันที่ 31 มีนาคม 2568 และสำหรับส่วนที่เหลือ คณะทำงาน ฯ จะประชุมพิจารณากำหนดช่วงเวลาในการรื้อถอนที่ไม่กระทบต่อผู้ใช้ทางด่วนอย่างเร่งด่วนต่อไป.-316-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ตึกถล่มพบเสียชีวิตเพิ่ม

พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม 5 ราย ทีมกู้ภัยเร่งกู้ร่าง

พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม 5 ราย ในพื้นที่โซน B และโซน C มีซากอาคารถล่มทับร่างอยู่ ทีมกู้ภัยเร่งกู้ร่างและค้นหาผู้สูญหายใต้ซากอาคารต่อเนื่อง

ชายวัย 50 ไหว้ขอโทษ ไม่มีเจตนากุเรื่องเมียท้อง 4 เดือน ติดใต้ซากตึก สตง.

ชายวัย 50 ปี ยกมือไหว้ขอโทษ ไม่มีเจตนากุเรื่องภรรยาท้อง 4 เดือน ติดใต้ซากอาคาร สตง.ถล่ม ด้านรอง ผบช.น. เตือนอย่าใช้โอกาสที่มีผู้ประสบเหตุสร้างความสงสารหลอกเอาทรัพย์สิน มีความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน

ออกแล้ว! ผลตรวจเหล็ก 28 ชิ้น ตึก สตง.ถล่ม พบไม่ได้มาตรฐาน 13 ชิ้น

ผลตรวจตัวอย่างเหล็ก 28 ชิ้น ตึก สตง.ถล่มจากแผ่นดินไหว พบได้มาตรฐาน 15 ชิ้น ไม่ได้มาตรฐาน 13 ชิ้น ยังไม่สรุปเป็นสาเหตุตึกถล่ม ชี้ต้องดูหลายองค์ประกอบ

ข่าวแนะนำ

พ่อขอของขวัญวันเกิดให้ลูกชายรอดชีวิตจากตึก สตง.ถล่ม

พ่อของหนุ่มขอนแก่น วัย 35 ปี หนึ่งในผู้สูญหายจากอาคาร สตง.ถล่ม ขอของขวัญวันเกิดให้ลูกชายรอดชีวิต ส่วนหนุ่มช่างประปา วัย 32 ปี เหยื่อตึก สตง.ถล่ม เผาแล้ว แม่ยังทำใจไม่ได้ สะอื้นไห้หน้าเมรุ

“ชัชชาติ” เผยเตรียมกู้ 5 ร่างที่พบ-ขนย้ายชิ้นส่วนอาคารแล้ว 100 ตัน

ผู้ว่าฯ กทม. เผยเตรียมกู้ 5 ร่าง จาก 14 ร่างที่พบ ขนย้ายชิ้นส่วนอาคารแล้ว 100 ตัน ยันไม่ขีดเส้นตายหยุดช่วยเหลือ ปรับแผนเพิ่มการรื้อถอนด้วยเครื่องจักรหนักควบคู่ไปมากขึ้น