กรุงเทพฯ 31 มี.ค. – รมว.แรงงาน ลงพื้นที่จุดเกิดเหตุอาคาร สตง.ถล่ม ตั้งศูนย์ประสานงาน 24 ชม. เผยเยียวยาแรงงานในระบบรายละ 2 ล้าน
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่จุดเกิดเหตุอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. แห่งใหม่ ย่านจตุจักร ถล่มขณะเกิดเหตุแผ่นดินไหว เพื่อตั้งศูนย์ประสานงานของกระทรวงแรงงาน
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า วันนี้มาพร้อมปลัดกระทรวงและอธิบดีหลายกรมได้ลงมาในพื้นที่เพื่อมาดูถึงความเดือดร้อน โดยเฉพาะผู้ที่เกิดเหตุไม่คาดฝันจนมีผู้บาดเจ็บและผู้สูญเสีย เท่าที่ได้รับการรายงานมีการสูญเสีย 18 คน ส่วนบาดเจ็บกว่า 30 คน ในส่วนต่าง ๆ เหล่านี้พยายามที่จะทำการหารือกับทางบริษัทผู้รับเหมาว่าผู้ที่สูญเสียเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือไม่ หากเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ทางประกันสังคมจะดูแลตามสิทธิ โดย 1 รายจะได้รับการเยียวยาประมาณ 2 ล้านบาท ส่วนผู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ทาง ปภ.และกระทรวงมหาดไทยได้รายงานคงจะต้องให้บริษัทที่เป็นผู้รับเหมารับผิดชอบ ส่วนการตั้งศูนย์ที่บริเวณจุดเกิดเหตุได้นำล่ามชาวเมียนมา ชาวกัมพูชา มาคอยประสานกับทางญาติ
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ส่วนแรงงานที่เป็นคนไทย ทางกระทรวงแรงงานจะประสานกับญาติเพื่อช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในเบื้องต้นก่อน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมา ทางกระทรวงแรงงานได้ประสานกับสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทยว่ามีอะไรที่จะให้ช่วยเพื่อแบ่งเบาภาระบ้าง ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานอยู่
สำหรับผู้บาดเจ็บได้รับรายงานกว่า 30 คน อาการสาหัส 11 คน หากอยู่ในระบบประกันสังคมทางประกันสังคมจะดูแลรักษาจนกระทั่งหายดี ส่วนผู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมจะทำการตรวจสอบสิทธิว่ามีประกันอุบัติเหตุประกันชีวิต หรือประกันการรักษาอะไรบ้าง ทางกระทรวงแรงงานจะช่วยประสานในส่วนนี้ให้กระทรวงแรงงานได้ตั้งศูนย์ประสานงานที่บริเวณจุดเกิดเหตุตลอด 24 ชั่วโมง หรือหากไม่สะดวกเดินทางมาก็สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานเขต กทม. ทั้ง 12 เขต หรือประสานไปยัง 5 เสือแรงงานจังหวัดทั่วประเทศ
สำหรับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคมขอให้นำรายชื่อมาว่าได้ทำงานในไซด์งานหรือไม่ ทางกระทรวงแรงงานจะประสานกับบริษัทผู้รับเหมาว่ารายชื่อเหล่านั้นในบริษัทผู้รับเหมามีรายงานชื่อตรงกันหรือไม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการประสานงานกับผู้รับเหมาเพื่อขอรายชื่อทั้งหมดของแรงงานทั้ง 2 บริษัท โดยเฉพาะบริษัทที่เหมาช่วงต่อมีบริษัทที่เหมาช่วงอีกกี่รายจะต้องขอรายชื่อคนที่มาทำงานทั้งหมด
เมื่อถามถึงการจ้างงานพบมีการจ้างงานแบบผิดกฎหมายหรือไม่ นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ แต่เท่าที่ทราบจากการตรวจสอบมีการสูญเสีย 18 ราย อยู่ในระบบประกันสังคม 10 ราย อีก 8 ราย อยู่ระหว่างการตรวจสอบ จะต้องพิสูจน์อัตลักษณ์ก่อนว่าชื่ออะไร สัญชาติไหน ส่วนผู้ได้รับบาดเจ็บอยู่ตามโรงพยาบาลต่างๆ อีกกว่า 10 ราย
ส่วนการจ้างงาน หากพบว่ามีการจ้างงานที่ผิดกฎหมาย เช่น การใช้แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ก็ต้องมีการดำเนินคดี แต่สำหรับบุคคลที่อายุเกิน 60 ปีนั้น หากสมัครใจทำงานก็ไม่มีความผิด
เมื่อถามว่าจะมีการเข้าไปตรวจสอบบริษัทผู้รับเหมาจีนหรือไม่ นายพิพัฒน์ ตอบว่าก็ต้องมีการขออนุญาตเข้าไปตรวจสอบต่อไป. -419- สำนักข่าวไทย