กรุงเทพฯ 23 ก.ค.- หอการค้าฯ ถก รมว.แรงงาน ชงตั้งคณะกรรมการ กรอ.แรงงาน เพื่อเดินหน้านโยบายแก้ไขปัญหาแรงงานประเทศไทยทุกมิติ จัดทำยุทธศาสตร์จัดระเบียบแรงงานต่างด้าว -ค้ามนุษย์ เร่งรัดประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ
ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นายวิบูลย์ สุภัครพงษ์กุล รองประธานกรรมการ ในฐานะประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน, นายธวัชชัย เศรษฐจินดา กรรมการเลขาธิการ และนายอมรเทพ ทวีพานิชย์ ผู้อำนวยการบริหาร ได้เข้าพบหารือร่วมกับ นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, นายสมชาย มรกตศรีวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน, นายเดชา พฤกษ์พัฒนรักษ์ อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ณ ห้องประชุมกระทรวงแรงงาน
ดร.พจน์ เปิดเผยภายหลังประชุมว่า หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน และสมาคมการค้าต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมแก้ไขปัญหาแรงงานของประเทศไทยมาโดยตลอดร่วมกับกระทรวงแรงงาน ตลอดระยะเวลามากกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยโดยกระทรวงแรงงาน ได้มีความพยายามร่วมกันกับภาคเอกชนโดยเฉพาะหอการค้าไทยเพื่อร่วมแก้ไขและมีนโยบายที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ถึงแม้ภาวะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ยังคงมีความผันผวนและเปราะบาง อันเป็นผลมาจากปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้าระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-กัมพูชา ซึ่งส่งผลกระทบต่อประเทศและภาคธุรกิจให้ต้องเผชิญกับความท้าทายหลากหลายประการ ตลอดจนสถานการท่องเที่ยวในประเทศที่ชะลออย่างต่อเนื่องอันเนื่องมาจากนักท่องเที่ยวลดลงโดยเฉพาะประเทศจีนส่งผลโดยตรงต่อห่วงโซ่อุปทานอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ดังนั้นจึงได้เสนอให้ กระทรวงแรงงาน จัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านแรงงาน (กรอ.แรงงาน) เพื่อร่วมบูรณาการขับเคลื่อนนโยบายและข้อเสนอของภาคเอกชนให้เป็นรูปธรรม


อีกทั้ง ได้นำเสนอนโยบายการแก้ไขปัญหาแรงงานของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจุดยืนต่อนโยบายเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำของหอการค้าไทยและสมาชิก ซึ่งได้เน้นย้ำต้องเป็นไปตามหลักกฎหมายซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 อย่างเคร่งครัด สอดคล้องกับแนวทางที่ได้รับการยอมรับมาโดยตลอดจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และเสนอให้ร่วมกับภาคเอกชนจัดทำยุทธศาสตร์การบริหารจัดการ/จัดระเบียบแรงงานต่างด้าว การต่อต้านการใช้แรงงานเด็ก แรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ด้วยแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labor Practices : GLP) โดยปัจจุบันมีภาคเอกชนได้นำ จำนวน 29,688 แห่ง สามารถยกระดับคุณภาพลูกจ้างได้มากกว่า 2.2 ล้านคน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวได้สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ประเทศไทยเพื่อจะสามารถกลับมาอยู่ในระดับ Tier 1 ในรายงานการค้ามนุษย์หรือ TIP Report ในเร็วนี้
ส่วนข้อเสนอนโยบายการพัฒนาฝีมือแรงงาน หอการค้าไทยสนับสนุนให้เร่งรัดการประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือให้ครบตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติซึ่งมี 280 สาขา จากปัจจุบันที่มีการประกาศไว้เพียง 129 สาขา พร้อมทั้งให้มีการขยายสาขาอาชีพมาตรฐานฝีมือรวมทั้งอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือให้ครอบคลุมมากขึ้นสำหรับแรงงานไทย พร้อมผลักดันนโยบายการส่งเสริมแรงงานทดแทนเพื่อการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งได้มีการดำเนินการร่วมกับกระทรวงแรงงานแล้วส่วนหนึ่งในกลุ่มทหารกองประจำการ ผู้พิการ สูงอายุ และเตรียมพร้อมขับเคลื่อนความร่วมมือทางวิชาการด้านการพัฒนาฝีมือแรงงาน ระหว่าง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน หอการค้าไทย และ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยมีกรอบความร่วมมือทางวิชาการ วิจัยและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการยกระดับสมรรถนะด้านวิชาชีพสำหรับการทำงานที่ตอบสนองความต้องการตลาดแรงงาน ตลอดจนเพื่อพัฒนาศักยภาพนักศึกษาหรือกำลังแรงงานให้มีความรู้ ความสามารถ และทักษะฝีมือสูงขึ้นด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) หรือด้านอื่นๆ เป็นต้น
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้รับข้อเสนอของหอการค้าไทย มาดำเนินการพร้อมทั้งเห็นชอบการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน ด้านแรงงาน (กรอ.รง) เพื่อหารือรายละเอียดข้อเสนอร่วมกับหน่วยงานต่างๆ อย่างเร่งด่วน
ดร.พจน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี แห่งความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย-จีน และสมาคมการค้าวิสาหกิจจีนในไทย ได้เตรียมจัดงาน Thailand – China Cooperation Expo 2025 ขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 กันยายน 2568 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี บนพื้นที่จัดแสดงกว่า 40,000 ตารางเมตร ภายใต้แนวคิด “50 ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีน : ก้าวสู่ความรุ่งเรืองร่วมกัน” ซึ่งภายในงานดังกล่าว กระทรวงแรงงาน ได้ร่วมสนับสนุนจัดกิจกรรมจ๊อบแฟร์ (Job Fair) เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการจ้างงานระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาชนจีน ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือด้านแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจ และยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป.-516-สำนักข่าวไทย