กรุงเทพฯ 31 มี.ค. – สตง.เร่งตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยและผู้ได้รับผลกระทบจากตึกแห่งใหม่ถล่ม ยืนยันกระบวนการก่อสร้างถูกกฎหมาย
สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยว่า จากกรณีอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ความรุนแรงของแผ่นดินไหวในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บ และผู้สูญหาย ซึ่งถือเป็นโศกนาฏกรรมที่สร้างความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง สตง. ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ โดยภายหลังจากที่ได้รับรายงานกรณีเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน พร้อมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของ สตง. ได้ลงพื้นที่อย่างเร่งด่วน พร้อมประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลังความสามารถ และจะได้เร่งดำเนินการตรวจสอบหาสาเหตุที่เกิดขึ้นและแนวทางแก้ไข พร้อมชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบโดยเร็วต่อไป
สตง. ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการแห่งใหม่พร้อมสิ่งก่อสร้างประกอบ บนพื้นที่ประมาณ 10 ไร่ 3 งาน บริเวณถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ดังนี้
- การออกแบบอาคาร สตง. ได้ให้ความสำคัญกับการออกแบบอาคารให้เหมาะสมกับการปฏิบัติงานตรวจเงินแผ่นดินและสภาพพื้นที่ โดยมีบริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด และบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ออกแบบ ด้วยวงเงิน 73 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2561
- กระบวนการก่อสร้างอาคาร สตง. ได้เสนอขออนุมัติงบประมาณรายการค่าก่อสร้าง เป็นจำนวนเงิน 2,560 ล้านบาท และได้รับการอนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ต่อมาได้ดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างก่อสร้างตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และได้ผู้ชนะการประกวดราคา ได้แก่ กิจการร่วมค้า ไอทีดี–ซีอาร์อีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด) ซึ่งเป็นผู้เสนอราคารายต่ำสุด ด้วยวงเงิน 2,136 ล้านบาท และได้ดำเนินการเบิกจ่ายมาแล้วทั้งสิ้น 22 งวด เป็นจำนวนเงินที่เบิกจ่ายไปแล้วทั้งสิ้น 966.80 ล้านบาท
- การบริหารสัญญาก่อสร้าง สตง. ให้ความสำคัญกับการดำเนินการก่อสร้างให้ถูกต้องตามแบบรูปรายการและข้อกำหนดในสัญญา และเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และประกาศฯ ที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะกรณีการพิจารณาการรับน้ำหนัก ความต้านทาน และความคงทนของอาคาร เนื่องจากการก่อสร้างอาคารในเขตกรุงเทพมหานครอาจได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ประกอบกฎกระทรวง และประกาศที่เกี่ยวข้องซึ่งออกตามพระราชบัญญัติดังกล่าวอย่างเคร่งครัด โดยนำเงื่อนไขค่าหน่วยแรงที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาพิจารณาเปรียบเทียบและเลือกใช้ค่าหน่วยแรงที่มากกว่าในการดำเนินการก่อสร้าง
ภายใต้การให้มีการรับรองและยืนยันอย่างครบถ้วน ทั้งจากผู้ออกแบบก่อสร้าง ผู้ให้บริการควบคุมงานก่อสร้าง รวมถึงผลตอบข้อหารือจากหน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคาร ซึ่งทั้งหมดเป็นผู้มีวิชาชีพโดยตรงในเรื่องดังกล่าวตามกฎหมายกำหนด ทั้งนี้ สัญญาจ้างก่อสร้างดังกล่าวมีการประกันภัยครอบคลุมวงเงินทั้งหมดของสัญญา
สำหรับกรณีที่มีข่าวเรื่องการปรับแก้ไขแบบโครงสร้างให้มีขนาดเล็กลง เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากโดยข้อเท็จจริงแล้ว ในการออกแบบรูปรายการละเอียด ผู้ออกแบบจัดทำตามวิชาชีพวิศวกรรมโดยเสาสี่เหลี่ยมด้านหน้าอาคารสูงสามชั้นมีขนาดกว้างคูณยาว 1.40×1.40 เมตร ส่วนชั้น 29 ถึงดาดฟ้า เป็นเสากลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางขนาด 0.80 เมตร เพื่อรองรับหลังคาตึก ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามที่ผู้ออกแบบได้กำหนดไว้ และไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด ซึ่ง สตง.ได้ติดตามตรวจสอบในระหว่างการก่อสร้างอยู่เสมอ
- การควบคุมงานก่อสร้าง สตง. ได้ดำเนินการจัดหาผู้ให้บริการควบคุมงานก่อสร้างตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 โดยวิธีคัดเลือกผู้ให้บริการควบคุมงานจ้างก่อสร้าง โดยกิจการร่วมค้า PKW (บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด บริษัท ว. และสหาย คอนซัลแตนตส์ จำกัด และบริษัท เคพี คอนซัลแทนส์ จำกัด) เป็นผู้ชนะการยื่นข้อเสนองานจ้างควบคุมงานด้วยวงเงิน 74.65 ล้านบาท ซึ่งผู้ควบคุมงานต้องควบคุมงานก่อสร้างและรับรองการทดสอบคุณสมบัติของพัสดุในการก่อสร้างทุกรายการตามแบบรูปรายการ ในการดำเนินโครงการก่อสร้างดังกล่าว สตง. ได้ยึดหลักความสุจริต คุ้มค่า โปร่งใส ประสิทธิภาพประสิทธิผล และตรวจสอบได้ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
กล่าวคือ สตง. ได้ดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างโดยมีการเปิดเผยข้อมูลในทุกขั้นตอน มีการปฏิบัติต่อผู้ประกอบการทุกรายโดยเท่าเทียมกัน ตลอดจนกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมและเพียงพอต่อการยื่นข้อเสนอ เป็นต้น จนกระทั่งได้ผู้ชนะการประกวดราคาด้วยวงเงิน 2,136 ล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับราคากลางงานก่อสร้าง จำนวน 2,522.15 ล้านบาท (คิดเป็นจำนวนเงินที่ต่ำกว่า ราคากลางทั้งสิ้น 386.15 ล้านบาท)นอกจากนี้ สตง. ยังได้แสดงเจตนารมณ์ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามปัญหาการทุจริต อีกทั้งยังได้ร่วมกับกิจการร่วมค้า ไอทีดี–ซีอาร์อีซี (ผู้ประกอบการ) จัดพิธีลงนามข้อตกลงคุณธรรมความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564
สตง. มีความห่วงใยและมีความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการดำเนินการช่วยเหลือเยียวยากับผู้ประสบภัยและภาคส่วนต่างๆ จึงได้จัดตั้งศูนย์ประสานงานในสถานที่เกิดเหตุ เพื่อบูรณาการความร่วมมือกับศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้าจากเหตุแผ่นดินไหว (อาคารถล่มในเขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร) รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประสานงาน อำนวยความสะดวก และให้ความช่วยเหลือกับผู้ประสบภัยและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว. -515- สำนักข่าวไทย