31 มี.ค. – แผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดขึ้นในเวลาที่เมียนมาต้องประสบวิกฤติหลายด้านรุมเร้า รัฐบาลทหารเมียนมาตกอยู่ในที่นั่งลำบาก
“เมียนมาเผชิญวิกฤติรอบด้านมานาน ภาพใหญ่คือการเมืองการปกครองที่ไม่สามารถสลัดทิ้งอำนาจจากกระบอกปืน เศรษฐกิจแทบล่มสลายตามมา เมื่อต้องเผชิญหายนะภัยร้ายแรงเช่นนี้ คณะรัฐประหารจึงมาถึงทางสองแพร่งว่าจะให้ระบอบทหารอยู่ต่อหรือประเทศชาติอยู่รอด”
27 มีนาคม 1 วันก่อนหายนะภัย พาเหรดวันกองทัพเมียนมา แสดงความยิ่งใหญ่ของเหล่าทัพ ตอกย้ำบทบาททหารตั้งแต่การเรียกร้องเอกราชเมื่อ 80 ปีก่อน ปีนี้กองทัพอยู่ภายใต้ผู้นำที่ยึดอำนาจรัฐบาลมา 4 ปี

พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ประกาศเดินหน้าจัดการเลือกตั้งปลายปีนี้ด้วยความมั่นใจว่า สภาบริหารแห่งรัฐที่ครองอำนาจอยู่ในจัดเตรียมทุกอย่างพร้อมสรรพแล้ว พาเหรดในเมืองหลวง ต่อหน้าตัวแทนบางชาติที่ยังพอใกล้ชิดอยู่บ้าง ดูจะเป็นสิ่งที่รัฐบาลทหารต้องการให้โลกรับรู้ถึงความแข็งแกร่งของกองทัพ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านั่นตรงข้ามกับความเป็นจริง
วันรุ่งขึ้น 28 มีนาคม อีกวิกฤติหนึ่งได้ซ้ำเติม เมืองมัณฑะเลย์ เมืองใหญ่อันดับสองของประเทศ เผยถึงความโหดร้ายของมหันภัยที่ซ้ำเติมประเทศ ตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษเมื่อ 77 ปีก่อน เมียนมาในเวลานั้น มีความฝันสร้างชาติตามแนวทางประชาธิปไตย แต่แล้วทหารได้ควบคุมอำนาจไว้เบ็ดเสร็จ ตลอดเวลาต้องตกอยู่ในสภาวะสงครามกลางเมือง การแบ่งปันอำนาจกับกลุ่มชาติพันธุ์เป็นปมใหญ่ที่คลี่คลาย สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลง พัดแรง จนเมื่อปี 2011 ทหารเมียนมาได้รับเสียงชื่นชม ยอมโอนอ่อนให้กับเสียงประชาชน
4 ปีถัดมา วีรสตรีของชาติได้ผงาดเป็นผู้นำ ในการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ ตั้งรัฐบาลพลเรือนสำเร็จ แต่ก็ต้องบริหารงานตามข้อจำกัดที่ทหารวางกรอบเอาไว้
1 กุมภาพันธ์ 2021 ทหารก็ดับฝันของชาติอีกครั้ง ใช้กระบอกปืนยึดอำนาจ นำนายทหารเข้าทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง เสียงประชาชนไม่อาจต้านทาน สู้ในเมืองอย่างสันติไม่สำเร็จ ต้องจับอาวุธ
สงครามกลางเมืองรุนแรงยิ่งขึ้นในช่วง 4 ปีหลังรัฐประหารรัฐบาลค่อยๆ เพลี่ยงพล้ำให้กับกองกำลังต่อต้าน ที่เริ่มจากการก่ออารยะขัดขืน แล้วเติบโตเป็นกองกำลังปกป้องประชาชน ผนึกกำลังกับชาติพันธุ์ต่างๆ รุกไล่รัฐบาล ที่ต้องสูญเสียการควบคุมพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ และต้องดิ้นรนปกป้องพื้นที่ตอนกลางของชนชาติเมียนมา ประชาชน 3.5 ล้านคน ต้องพลัดถิ่นฐาน ส่วนหนึ่งเป็นลูกหลานชาวบ้านหันไปจับอาวุธสู้ กับกองทัพปลดปล่อยชาวเมียนมา ที่ก่อตั้งหลังการยึดอำนาจ
เศรษฐกิจของประเทศอยู่ในภาวะชะงักงัน กลไกธุรกิจต่างๆ ง่อยเปลี้ยจากปัญหาการเมือง เงินเฟ้อรุมเร้ากระทบต่อเงินในกระเป๋า ทำให้การขาดแคลนอาหารอย่างหนัก สหประชาชาติเคยเตือนว่าเงินช่วยเหลือด้านอาหารแก่ชาวเมียนมานับล้านต้องระงับไป เพราะขาดแคลนเงินทุน
พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย รับรู้แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวต่อบัลลังก์อำนาจ ในวันเกิดเหตุเขาเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากต่างชาติ อย่างที่สร้างความประหลาดใจ เพราะทั่วโลกยังจำได้ดีถึงความยากของรัฐบาลทหารที่ขวางการกู้ภัยไซโคลนนากิซ หายนะภัยที่ผู้คนล้มตายกว่า 130,000 คน
แผ่นดินไหวที่เขย่าอำนาจ ทำให้เขาได้เรียกร้องให้ยุติการสู้รบ แล้วหันมาร่วมกันกู้ภัยช่วยชีวิต แต่แล้ววานนี้กองกำลังต่อต้าน แจ้งว่ารัฐบาลยังคงโจมตีทางอากาศหลายจุด ไม่ไกลจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว ในเขตสะกาย ยังไม่แน่ชัดว่าเป็นคำสั่งโดยตรงจากองทัพ หรือนายทหารที่แตกแถว
ทางเลือกของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย มีไม่มากแล้ว ประเมินว่าความเสียหายจากแผ่นดินไหวจะสูงยิ่งกว่าผลผลิตมวลรวมในประเทศ ดังนั้น เขาจะเลือกทำสงครามต่อไปเพื่อรักษาอำนาจ หรือจะทุ่มเทกำลังฝ่าวิกฤติรุมเร้าเพื่อรักษาชีวิตเพื่อนร่วมชาติ การตัดสินใจครั้งนี้จะตัดสินความอยู่รอดของระบอบทหารด้วย.-สำนักข่าวไทย