กรุงเทพฯ 23 มิ.ย. – อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์เผย มอบอำนาจให้ผู้แทน ยื่นฟ้องสหกรณ์การเกษตรท่าอุเทน จ. นครพนม หลังจากที่สหกรณ์ไม่สามารถหาเงินมาคืนค่าโรงสีข้าวขนาด 40 ตันที่ได้รับมอบจากกรมได้ ย้ำสหกรณ์ทำผิดสัญญาจึงจำเป็นที่จะต้องดำเนินการทางกฎหมาย
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าวว่า ได้มอบอำนาจให้ผู้แทน ยื่นฟ้องสหกรณ์การเกษตรท่าอุเทน จำกัด จังหวัดนครพนม ฐานผิดสัญญา เนื่องจากสหกรณ์ไม่สามารถหาเงินมาคืนค่าโรงสีข้าวขนาด 40 ตัน ที่ได้รับมอบจากกรมส่งเสริมสหกรณ์เมื่อปี พ.ศ.2544 ได้
ทั้งนี้สหกรณ์การเกษตรท่าอุเทน จำกัด ได้ขอรับการงบประมาณและเข้าร่วม “โครงการเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างภาคการเกษตร (ASPL)” ที่กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดทำขึ้น โดยขอรับการสนับสนุนอุปกรณ์โรงสีขนาด 40 ตัน/วัน ซึ่งผ่านมติจากที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์ รวมทั้งรับทราบเงื่อนไขการส่งชำระเงินบริจาคและค่าธรรมเนียมเข้ากองทุนพัฒนาสหกรณ์อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ โดยมีเอกสารการจัดทำบันทึกข้อตกลง/บันทึกคำยินยอมเป็นหลักฐานจำนวนเงินบริจาค 8,775,900 บาท ระยะเวลาการส่งชำระเงินบริจาคเข้ากองทุนพัฒนาสหกรณ์ จำนวน 14 ปี โดยปลอดการส่งเงินบริจาคใน 2 ปีแรก และเริ่มส่งในปี 2545 ถึง 2558 ซึ่งเป็นไปตามคำยินยอม เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2544
สำหรับ “โครงการเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างภาคการเกษตร (ASPL)” ที่กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดทำขึ้นนั้น เป็นไปตามมติคณะกรรมการบริหารจัดการโครงการเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างการผลิตภาคเกษตรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาปัจจัยด้านการผลิต การตลาด และการจัดการผลผลิตให้มีคุณภาพได้มาตรฐานสนองความต้องการของผู้บริโภค สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและเพิ่มอำนาจต่อรองของเกษตรกร โดยโครงการดังกล่าวได้กำหนดให้จัดสรรเงินอุดหนุนจ่ายขาดให้แก่สถาบันเกษตรกร (สหกรณ์) เพื่อสนับสนุนการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ โรงสี ไซโล ลานตาก ฉาง ฯลฯ โดยมีเงื่อนไขว่าให้สถาบันเกษตรกร (สหกรณ์) ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการใช้ประโยชน์เข้าบัญชีที่เปิดในกองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) ตามอัตราและระยะเวลาที่กำหนด (ไม่เกิน 20 ปี) เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนสนับสนุนการดำเนินงานในลักษณะเดียวกันให้แก่สถาบันเกษตรกรอื่นๆ ต่อไป
ทั้งนี้ในการดำเนินงานตามโครงการ ASPL สำนักงานสหกรณ์จังหวัดได้ชี้แจงขั้นตอนการขอรับการสนับสนุนงบประมาณ รวมทั้งเงื่อนไขการส่งชำระเงินบริจาคและค่าธรรมเนียมเข้ากองทุนพัฒนาสหกรณ์ โดยได้นำเสนอเข้าที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์ที่มีความประสงค์ขอรับการสนับสนุนจากกรม เพื่อให้สมาชิกได้รับทราบและร่วมกันพิจารณาการเข้าร่วมโครงการ ซึ่งหากที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์มีมติขอรับการสนับสนุนงบประมาณและการเข้าร่วมโครงการแล้ว จะเข้าสู่กระบวนการจัดทำบันทึกข้อตกลง/บันทึกคำยินยอมเข้าร่วมโครงการต่อไป
ในระหว่างการดำเนินโครงการ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้มีมาตรการสำหรับช่วยเหลือสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการที่อาจประสบปัญหาและอุปสรรคในการส่งชำระเงินบริจาคและค่าธรรมเนียมอยู่ด้วยกันหลายมาตรการ อาทิ มาตรการอนุมัติการขอปรับตารางการส่งชำระเงินบริจาคและค่าธรรมเนียม มาตรการอนุมัติงดหรือลดการส่งชำระเงินค่าธรรมเนียมให้แก่สหกรณ์ที่ต้องการส่งเงินบริจาคทั้งจำนวนก่อนครบกำหนด มาตรการอนุมัติเงินกู้ยืมอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1 แก่สหกรณ์ที่ส่งชำระเงินได้ตามงวดกำหนด รวมถึงมาตรการพิจารณาข้อเสนอการขอไกล่เกลี่ยประนีประนอมทั้งก่อนและหลังศาลพิพากษาตามระเบียบของกองทุนพัฒนาสหกรณ์ (กพส.) เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนด้านการชำระหนี้ของสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการให้ได้มากที่สุด
กรณีของสหกรณ์การเกษตรท่าอุเทน จำกัด นั้น ในระยะต่อมาสหกรณ์ได้แจ้งความประสงค์ไม่สามารถชำระเงินบริจาคและค่าธรรมเนียมได้ตามกำหนด ซึ่งกรมได้พิจารณาอนุมัติปรับตารางการส่งชำระเงินบริจาคและค่าธรรมเนียม เป็นจำนวน 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2548 และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2558 โดยกองทุนพัฒนาสหกรณ์ได้บันทึกลูกหนี้ ASPL ทั้งหมด เข้าเป็นสินทรัพย์ของกองทุน ดังนั้น การแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระของสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการ ASPL จึงต้องดำเนินการตามระเบียบและแนวทางที่กองทุนพัฒนาสหกรณ์กำหนด
อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กล่าวย้ำว่า ตลอด 23 ปีที่ผ่านมา กรมได้ติดตามการใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์และปัจจัยพื้นฐานที่ได้รับการอุดหนุนจากโครงการเงินกู้ปรับโครงสร้างภาคการเกษตร ASPL มาอย่างต่อเนื่อง โดยได้กำชับกับทุกสหกรณ์ว่า หากติดขัดปัญหาเรื่องการส่งชำระเงินค่าธรรมเนียมจากการใช้อุปกรณ์ดังกล่าวเข้ากองทุนพัฒนาสหกรณ์ ให้ดำเนินการประสานงานผ่านสำนักงานสหกรณ์จังหวัดในพื้นที่เพื่อขอผ่อนผัน กรมมีมาตรการให้ความช่วยเหลือเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสหกรณ์อย่างเต็มที่ แต่หากสหกรณ์ทำผิดสัญญาและยืนยันที่จะไม่ชำระเงินคืน กรมส่งเสริมสหกรณ์จำเป็นที่จะต้องดำเนินการทางกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ จากข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 มีสหกรณ์ที่เข้าร่วมโครงการเงินกู้ปรับโครงสร้างภาคการเกษตร ASPL 191 แห่งได้ชำระเงินบริจาคและค่าธรรมเนียมเข้ากองทุนพัฒนาสหกรณ์แล้ว จำนวนเงิน 1,288.492 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 77.07 ของแผนการชำระ โดยมีสหกรณ์ที่หมดหนี้แล้ว 151 แห่ง และสหกรณ์ที่ค้างชำระ 39 แห่ง ศาลมีคำพิพากษาแล้วให้สหกรณ์ชดใช้เงินคืนตามสัญญา 29 แห่งและอยู่ระหว่างดำเนินคดี 10 แห่ง.-สำนักข่าวไทย