22 พ.ย. – กองทุนพัฒนาสหกรณ์ เดินหน้าช่วยเหลือสมาชิกสหกรณ์ ปล่อยสินเชื่อปีละกว่า 4,000 ล้านบาท ส่วนปี 68 เพิ่มกรอบเงินกู้เป็น 5,000 ล้านบาท เป็นทุนหมุนเวียนให้สมาชิกและแก้ปัญหาหนี้
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสัมมนาคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ หรือ กพส. ประจำปีงบประมาณ 2568 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร กพส. และกฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกองทุนพัฒนาสหกรณ์ ทำหน้าที่เป็นแหล่งทุนสนับสนุนการดำเนินงานของสหกรณ์ทุกประเภท ผ่านการให้สินเชื่อแก่สหกรณ์ เพื่อใช้ดำเนินธุรกิจและเป็นทุนหมุนเวียนในการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่สมาชิก
โดย 3 ปีย้อนหลัง (พ.ศ.2565- 2567) กองทุนพัฒนาสหกรณ์ หรือ กพส. อนุมัติเงินกู้เฉลี่ยกว่า 4,360 ล้านบาท/ปี ให้แก่สหกรณ์เฉลี่ยปีละกว่า 1,700 สหกรณ์ มูลค่าเงินกู้ประมาณ 2.45 ล้านบาท/สหกรณ์ ส่งผลให้สหกรณ์มีปริมาณธุรกิจเพิ่มขึ้นมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท/ปี ช่วยลดต้นทุนจากการกู้ยืมแหล่งเงินทุนอื่นๆ คิดเป็นมูลค่า 257 ล้านบาท/ปี มีสมาชิกได้รับประโยชน์รวมกว่า 320,000 คน/ปี
สำหรับปี 2568 วางกรอบเงินกู้ไว้ 5,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2567 จำนวน 300 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 1.โครงการปกติ วงเงิน 3,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยตามชั้นลูกหนี้ (1.5 – 4%) เพื่อให้สินเชื่อแก่สหกรณ์ในการดำเนินธุรกิจ เป็นทุนหมุนเวียนในการให้กู้แก่สมาชิก รวบรวมผลผลิต จัดหาสินค้ามาจำหน่ายหรือลงทุนในทรัพย์สิน และ2.โครงการพิเศษวงเงิน 2,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยต่ำ (0-1%) จำนวน 17 โครงการ มุ่งเน้นแก้ปัญหาหนี้ ควบคู่กับการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ให้กับสมาชิกสหกรณ์ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการลดปัญหาหนี้ครัวเรือนของประเทศ
กรมส่งเสริมสหกรณ์ตั้งเป้าปี 68 ลดหนี้ NPL สมาชิกสหกรณ์ 25%
กรมส่งเสริมสหกรณ์ ยังดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินและพัฒนาคุณภาพชีวิตสมาชิกสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร ด้วยระบบสหกรณ์ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยตั้งทีมระดับจังหวัด ทีมปฏิบัติการของสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรในการแก้ไขปัญหาหนี้ ร่วมกันจัดทำแผนแก้ไขปัญหาหนี้ แผนส่งเสริมอาชีพและแผนคลินิกแก้หนี้ ตั้งเป้าแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระ (NPL) ของสมาชิกให้ลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของมูลหนี้ค้างชำระก่อนเข้าร่วมโครงการ โดยผลการดำเนินแผนแก้ไขปัญหาหนี้ กลุ่มเป้าหมาย 710 แห่ง ในพื้นที่ 78 หน่วยงาน มีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร จำนวน 641 แห่ง สมาชิก 50,870 ราย ได้รับการแก้ไขหนี้ค้างชำระลดลงกว่า 1,800 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 22.95 มีสมาชิกได้รับการส่งเสริมอาชีพอีกกว่า 4,200 ราย ส่วนปีงบ 2568 ตั้งเป้าแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระ (NPL) ของสมาชิกให้ลดลงได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของมูลหนี้ค้างชำระก่อนเข้าร่วมโครงการ โดยมีสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรเป้าหมาย 700 แห่งในพื้นที่รับผิดชอบ 78 หน่วยงานเข้าร่วมโครงการ . -116 สำนักข่าวไทย