อยุธยา 12 พ.ค.-กรมชลประทานเร่งให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มต่ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างทำนาตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม เพื่อที่จะสามารถเก็บเกี่ยวได้ทัน ก่อนฤดูฝนซึ่งฝนจะตกชุก น้ำเข้าไปท่วมขังในแปลงนา และทำให้ผลผลิตเสียหาย
ชาวนาในอำเภอบางบาลเร่งพากันย่ำตอ ตีดินทำเทือก ก่อนจะหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อปลูกข้าวนาปีทันทีที่กรมชลประทานส่งน้ำมาให้ในฤดูกาลเพาะปลูกปีนี้ คุณละเอียด เลิงโพธิ์ เช่านาไว้ 60 ไร่ กล่าวว่า 2 ปีที่ผ่านมาประสบภัยแล้ง กว่าจะได้ปลูกข้าวก็ล่วงเข้าเดือนมิถุนายน พอถึงปลายฤดูฝน ฝนตกในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างชุก บางบาลซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำจึงมีน้ำเข้าไปท่วมขัง ขณะข้าวกำลังออกรวง ปีนี้เมื่อกรมชลประทานส่งน้ำมาให้ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม จึงลงมือปลูกข้าวทันที
อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่ให้ชาวนาในพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยาเร่งปลูกข้าวตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม เพื่อจะให้เก็บเกี่ยวได้ภายในเดือนสิงหาคม ก่อนถึงฤดูน้ำหลาก ลุ่มต่ำลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างมี 12 ทุ่ง ได้แก่ ทุ่งเชียงราก ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งบางกุ้ง 1 และทุ่งบางบาล พื้นที่รวม 1,150,000 ไร่ หลังเก็บเกี่ยวแล้ว พื้นที่ลุ่มต่ำเหล่านี้จะใช้เป็นแก้มลิงธรรมชาติ รองรับน้ำได้ถึง 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร เกษตรกรสามารถทำอาชีพประมงเป็นอาชีพเสริม ส่วนน้ำค้างทุ่งก็จะช่วยทำให้ดินชุ่มชื้น เหมาะที่จะทำนาปรังต่อไป.-สำนักข่าวไทย