กรุงเทพฯ 11 ส.ค.-ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ค.66 ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกรอบ 14 เดือน ตั้งแต่ มิ.ย.65 ผู้บริโภคกังวลความไม่แน่นอนจัดตั้งรัฐบาลและเสถียรภาพทางการเมือง อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยปัจจุบันและในอนาคต
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนกรกฎาคม2566 ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือนตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2565 เป็นต้นมา เนื่องจาก ผู้บริโภครู้สึกกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนในการจัดตั้งรัฐบาลและเสถียรภาพทางการเมืองหลังการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันและในอนาคค ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวลดลง นอกจากนี้ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่ยังทรงตัวสูงโดยเฉพาะค่าไฟฟ้ารวมถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลลบต่อการส่งออกของไทยทำให้การส่งออกในช่วงนี้หดตัวลง และมีผลกระทบในเชิงลบต่อกำลังซื้อของประชาชนในทุกภูมิภาค
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 50.3 52.7 และ 63.9 ตามลำดับ ปรับตัวลดลงทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนมิถุนายน ที่อยู่ในระดับ 51.2 53.7 และ 65.1 ตามลำดับ แสดงว่าผู้บริโภคเริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคต เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ ราคาพลังงานและค่าครองชีพที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลง ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง
การปรับตัวลดลงของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ที่ปรับตัวลดลงจากระดับ 56.7 เป็น 55.6 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน อย่างไรก็ตาม การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้าค่าครองชีพสูงและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยและทั่วโลกส่งผลกระทบทางจิตวิทยาในเชิงลบต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไปและการจ้างงานในอนาคต โดยยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้
อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวลดลง จากระดับ 41.6 เป็น 40.7 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือนเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวลดลงจากระดับ 63.9 มาอยู่ที่ระดับ 62.8 การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่องทุกรายการ แสดงว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลงมาจากสถานการณ์การเมืองและการจัดตั้งรัฐบาลที่ไม่แน่นอน หากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วภายในเดือนสิงหาคมหรือกันยายนและรัฐบาลใหม่มีเสถียรภาพ คาดว่าความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะกลับมาฟื้นตัวขึ้นได้อย่างต่อเนื่องอีกด้วย
ทั้งนี้ แม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะปรับตัวลดลงเป็นเดือนแรกก็ยังไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจไทยจะดูแย่ลงหากภายในปลายเดือนสิงหาคมนี้ได้มีรัฐบาลชุดใหม่และเห็นชื่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ออกมาแล้วและเตรียมเดินหน้าตามนโยบายด้านต่างๆในช่วงที่เหลือของปีนี้ได้เต็มทีก็น่าจะทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยมีการปรับตัวดีขึ้น ดังนั้นหากยังไม่มีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่และยังไม่เห็นชื่อคณะรัฐมนตรีที่ชัดเจนก็อาจทำให้เศรษฐกิจไทยในหลายๆด้านจะไม่ฟื้นตัวได้และอาจทำให้อัตราการเติบโตเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะโตเพียงแค่ 3-3.2 จากที่เคยมองว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตอยู่ที่ 3.5% ขึ้นไป รวมทั้งภาคการส่งออกจากที่คาดการณ์ไว้จะอยู่ที่ติดลบ 1-0% อาจจะติดลบไปถึง 2% เป็นไปได้ และในช่วงปลายเดือนสิงหาคม-ต้นเดือนหน้าทางศูนย์ฯจะมีการประเมิยภาพรวมอัตราการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศอีกคั้งหนึ่ง.-สำนักข่าวไทย