พาณิชย์ MOU โครงการ Family Business Thailand

กรุงเทพฯ 4 เม.ย. -พาณิชย์-สภาหอการค้าฯ- ม.หอการค้าไทย โครงการ Family Business Thailand เสริมศักยภาพธุรกิจครอบครัว ประเดิมโครงการแรกสมัครแล้ว 51 ธุรกิจ ทั้งกลุ่มผลิตสินค้าและบริการ


กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ลงนาม MOU จัดโครงการ Family Business Thailand สร้างธุรกิจครอบครัวของไทยให้มีความเข้มแข็ง ทายาทมีความรู้ในการบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างเป็นระบบ เพราะกว่า 80% ของธุรกิจในประเทศไทยคือธุรกิจครอบครัว การสืบทอดธุรกิจจึงต้องใช้ความรู้ความเข้าใจและการสื่อสารในครอบครัวที่ดี เข้าใจถึงความแตกต่างของคนแต่ละช่วงวัย และเปิดใจให้คนรุ่นใหม่นำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ โครงการนี้จะช่วยผลักดันให้ธุรกิจครอบครัวสามารถส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นได้ไม่รู้จบ

นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานและพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจโครงการ “Family Business Thailand กระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดพิธีลงนาม MOU โครงการ Family Business Thailand โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างศักยภาพการบริหารจัดการธุรกิจครอบครัวอย่างมืออาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มทายาทธุรกิจ SME รายเล็ก สมาชิกเครือข่าย YEC ทั่วประเทศ 


ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญกับการเร่งพัฒนาธุรกิจ SME ไทยให้มีความพร้อมในการแข่งขัน โดยเฉพาะการสืบทอดธุรกิจครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่นซึ่งมีอยู่ในทุกประเทศมาอย่างยาวนาน รวมถึงในประเทศไทยด้วย ปัจจุบันมีสัดส่วนราว 80% ของธุรกิจทั้งหมดในประเทศไทย นับเป็นหน่วยขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี พบว่าธุรกิจครอบครัวต้องเผชิญกับปัญหาด้านการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาด การบริหารความขัดแย้งที่มักจะเกิดจากความเห็นที่แตกต่างกันของคนในครอบครัวซึ่งมีประสบการณ์อยู่ในแต่ละยุคสมัย และการขาดองค์ความรู้ในการบริหารธุรกิจครอบครัวอย่างแท้จริง ดังนั้น MOU ฉบับนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือที่จะเชื่อมโยงให้ธุรกิจครอบครัวมีองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจ และการพัฒนาตลาดด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่างๆ อันจะนำมาซึ่งข้อมูลที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ในการสร้างโอกาสทางการค้า ประกอบกับบริหารเครือข่ายให้แก่ธุรกิจครอบครัวสามารถสืบทอดต่อไปได้ อีกทั้งขับเคลื่อนและพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ SME ได้อย่างเป็นรูปธรรมสอดรับกับนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ที่มุ่งผลักดันให้ SME เพิ่ม GDP ให้ได้ไม่น้อยกว่า 40% ภายในปี 2570

จากข้อมูลของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า ประเทศไทยมีธุรกิจครอบครัวที่เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ และบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้น 1,526 บริษัท หรือคิดเป็นร้อยละ 77.58 ของบริษัททั้งหมด และมีเพียงร้อยละ 30 ของธุรกิจครอบครัวเท่านั้นที่สามารถดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดและส่งผ่านไปสู่รุ่นที่ 2 ได้สำเร็จ และเพียงร้อยละ 12 สามารถส่งผ่านไปสู่รุ่นที่ 3 และมีเพียงร้อยละ 3 เท่านั้นที่รอดไปสู่รุ่นที่ 4 ตามลำดับ จึงเป็นความท้าทายของทายาทธุรกิจในการพาธุรกิจของตระกูลให้สืบทอดต่อไปได้

อย่างไรก็ดี ความร่วมมือภายใต้ MOU ครั้งนี้จะช่วยพัฒนาให้ธุรกิจครอบครัวสามารถบริหารจัดการธุรกิจให้อยู่รอดอย่างแข็งแรงได้ ถือเป็นมิติใหม่ที่สำคัญและมาถูกทาง เพราะที่ผ่านมามีการพัฒนาธุรกิจในรูปแบบต่างๆ แต่ยังไม่ครอบคลุมถึงธุรกิจครอบครัวเท่าไหร่นัก การ MOU ในครั้งนี้จะช่วยเข้าไปเสริมความเข้มแข็งธุรกิจได้เดินหน้าต่อ รวมถึงสะท้อนถึงอุปสรรคเชิงลึกที่ธุรกิจครอบครัวจะต้องพบทำให้ภาครัฐและเอกชนสามารถนำมาวางแผนการส่งเสริมธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดในอนาคต


นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า การลงนาม MOU โครงการ Family Business Thailand นับเป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ เป็นความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่ร่วมแรงร่วมใจส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการไทย โดยใช้ศักยภาพของแต่ละหน่วยงานเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย สำหรับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะทำหน้าที่ในการสนับสนุนข้อมูลธุรกิจเพื่อวางแผนการพัฒนาธุรกิจครอบครัวให้เข้มแข็ง ประกอบกับจัดอบรมในหัวข้อที่เกี่ยวข้องและวิทยากรให้ความรู้ด้านการทำธุรกิจแบบมืออาชีพ ซึ่งกิจกรรมแรกจะเริ่มจัดอบรมหลักสูตร Family Business Thailand ระหว่างวันที่ 8-9 พ.ค. 2567 ณ ศูนย์ประชุม 1 ศตวรรษ ชั้น 6 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดรับสมัครแล้วตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 26 เม.ย.2567 อบรมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ขณะนี้มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการฯ แล้ว จำนวน 51 ธุรกิจ ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัวที่หลากหลายทั้งกลุ่มที่ผลิตสินค้าและการให้บริการ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่าที่ผ่านมา ธุรกิจครอบครัวขนาดเล็ก และขนาดกลางได้รับผลกระทบจากภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ประกอบกับยังขาดองค์ความรู้ในการบริหารจัดการธุรกิจอย่างเหมาะสม ทำให้ธุรกิจครอบครัวไม่สามารถปรับตัวได้ทันภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้น การ MOU ในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพทางการแข่งขันให้กับธุรกิจครอบครัวอย่างรอบด้าน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะที่เป็นองค์กรเอกชนที่มีนักธุรกิจมากด้วยประสบการณ์และความสามารถ พร้อมสนับสนุนบุคลากรเพื่อให้คำปรึกษา แนะนำ และจัดหาวิทยากรเพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านบริหารจัดการธุรกิจครอบครัว ผนวกความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันศึกษาพร้อมส่งต่อธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อให้ธุรกิจครอบครัวมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป

รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยเพิ่มเติมว่า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและพัฒนาหลักสูตรต่างๆ ในโครงการ Family Business Thailand ทั้งหลักสูตรระยะสั้น และหลักสูตรระยะยาว (Degree & Non-Degree) กับเจ้าของธุรกิจครอบครัว ตลอดจนทายาท เพื่อนำองค์ความรู้สำหรับการเร่งสร้างการเติบโต ควบคู่ไปกับการปรับใช้เทคโนโลยีในธุรกิจ พร้อมทั้งใช้ประโยชน์จากเครือข่ายธุรกิจครอบครัว เพื่อต่อยอดธุรกิจให้เติบโตและส่งต่อธุรกิจได้จากรุ่นสู่รุ่น

รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล ผู้รับผิดชอบโครงการ Family Business Thailand ได้สะท้อนมุมมองในฐานะที่เป็นปรึกษาธุรกิจครอบครัวว่า ธุรกิจครอบครัวถือเป็นนักรบทางเศรษฐกิจที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย โดยสามารถสร้างรายได้ประมาณ 60-70% ของ GDP ทว่า ส่วนใหญ่มักจะประสบปัญหาในการสืบทอดธุรกิจ จนมีคำกล่าวว่า ธุรกิจครอบครัวมักจะส่งต่อกันได้ไม่ถึงรุ่นที่ 3 เนื่องจากศาสตร์การบริหารธุรกิจครอบครัวเป็นศาสตร์เฉพาะด้านที่มีการบ่มเพาะ ถ่ายทอดกันในวงจำกัด ดังนั้น การผนึกกำลังกันระหว่าง ภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนสถาบันการศึกษาเป็น “สามประสาน” จึงถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ประเทศไทยจะสามารถขยายฐาน “กองทัพนักรบทางเศรษฐกิจ” ที่แข็งแกร่งเพิ่มขึ้นอย่างเป็นระบบ

ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถติดตามและสมัครเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่จัดร่วมกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยได้ทางเว็บไซต์ www.dbd.go.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่  กองธุรกิจบริการ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โทร. 02 5475985 หรือสายด่วน 1570 ได้.-516-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

สามีเข้าเกียร์ค้างไว้ สตาร์ทรถพุ่งชนภรรยาดับ

สลด! สามีขับรถใส่เกียร์ค้างไว้ สตาร์ทรถพุ่งชนภรรยาเสียชีวิตในบ้านพักย่านวิภาวดี ตำรวจยังไม่ปักใจเชื่อคำให้การเบื้องต้น นำตัวสอบปากคำอย่างละเอียดอีกครั้ง

คุมฝากขัง “เอ็ม เอกชาติ” เจ้าตัวปิดปากเงียบ

ตร.ไซเบอร์คุมตัว “เอ็ม เอกชาติ” ฝากขัง เจ้าตัวปิดปากเงียบ ไม่ตอบคำถามสื่อ ด้านตำรวจพบเส้นทางการเงินจากเว็บพนัน กว่า 30 ล้านบาท

ข่าวแนะนำ

นายกฯ สั่งลดขั้นตอนแจ้งเตือนภัย ลั่นยังไม่ได้ SMS แผ่นดินไหว

นายกฯ ลั่น จนถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้รับ SMS เตือนแผ่นดินไหว สั่งลดขั้นตอนแจ้งเตือน “กรมอุตุฯ ไป ปภ. เข้าเครือข่ายมือถือ” ไม่ต้องผ่าน กสทช. ระหว่าง รอ Cell Broadcast เต็มระบบ ก.ค.นี้

ปภ.ยันไม่มีความรู้สึกสั่นไหว ไม่ใช่ผลจากอาฟเตอร์ช็อก

ปภ.แถลงชี้แจงกรณีสถานการณ์อพยพออกจากอาคาร ยืนยันไม่มีความรู้สึกสั่นไหว ไม่ได้เป็นผลกระทบจากอาฟเตอร์ช็อก ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก

นายกฯ ติดตามภารกิจช่วยเหลือคนติดซาก สตง.ถล่ม

นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่จุดเกิดเหตุอาคาร สตง.ถล่ม ติดตามภารกิจช่วยเหลือผู้ที่ติดค้างอยู่ใต้ซากอาคาร พร้อมให้กำลังใจทุกหน่วยงานทำงานอย่างเต็มที่

ตึกถล่มแผ่นดินไหว

72 ชั่วโมง ยังมีหวังพบผู้รอดชีวิตตึก สตง. ถล่ม

ใกล้ครบ 72 ชั่วโมงเหตุตึก สตง. ถล่ม แต่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายยังไม่ละความพยายาม และยังมีความหวังในการค้นหาผู้ที่ติดอยู่ใต้ซาก