กทม. 13 ก.พ.-การจับกุมนายไซซะนะ แก้วพิมพา ผู้ต้องหาคดีค้ายาเสพติดรายใหญ่ ที่มีการขยายผลไปถึงขบวนการฟอกเงินที่ปรากฏชื่อบุคคลต่างๆ ที่อาจเกี่ยวข้อง ซึ่งเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบแหล่งที่มาของเงิน คาดว่าอีกไม่นานนี้จะทราบผล ขณะที่มีความเห็นจากนักวิชาการด้านข้อมูลอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและการฟอกเงิน เกี่ยวกับกฎหมายปราบปรามการฟอกเงินของไทยที่สามารถเอาผิดได้ถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทุกส่วน
การจับกุมนายไซซะนะ แก้วพิมพา เมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา นำมาสู่การขยายผลจับกุมเครือข่ายค้ายาเสพติดและฟอกเงิน และที่เป็นข่าวครึกโครม หลังผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมได้ ให้การซัดทอดถึงมีบุคคลที่มีชื่อเสียง รวมทั้งคนในวงการรถหรู ที่อาจเกี่ยวข้องกับการดูแลทรัพย์สินของเครือข่าย ที่ล่าสุดเจ้าหน้าที่เดินหน้าประสานไปยังธนาคารต่างๆ ที่ผู้ถูกซักทอดมีบัญชีอยู่ เพื่อขอตรวจสอบบัญชีทางการเงินและดูพฤติกรรมการใช้เงินว่ามีความผิดปกติหรือไม่
นักวิชาการด้านข้อมูลอาชญากรรมทางธุรกิจและการฟอกเงินให้ข้อมูลว่า ไทยมีกฎหมายฟอกเงินฉบับแรกตั้งแต่ปี 42 เพื่อใช้เป็นมาตรการทางกฎหมาย ไม่ให้นำเงินที่ได้รับจากการกระทำความผิดไปแปรสภาพให้กลายเป็นทรัพย์สินใหม่ที่สะอาด ต่อมามีการแก้ไขกฎหมายฉบับที่ 5 เพิ่มเติมในปี 58 เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากล และขยายขอบเขตผู้มีความผิดฐานฟอกเงินไว้ใน 3 กรณี คือ นอกจากผู้ที่โอน รับโอน เปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการทำความผิด ปกปิดที่มาของเงินแล้ว ยังรวมไปถึงผู้ที่ครอบครอง ใช้ทรัพย์สิน โดยรู้ในขณะที่ได้มาว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการทำความผิด ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฟอกเงิน โดยรูปแบบฟอกเงินที่พบมีหลากหลาย มากสุดคือการนำเงินไปซื้อทรัพย์มูลค่าสูง เช่น อสังหาริมทรัพย์ หรือรถหรูราคาแพง และที่พบในเครือข่ายยาเสพติดส่วนมาก นักค้ายาเสพติดรายสำคัญจะใช้วิธีให้ตัวแทนเปิดบริษัททำธุรกิจบังหน้า
การแก้ไขกฎหมายที่ผ่านมามีขยายขอบเขตรองรับความผิดที่มีรูปแบบหลากหลายมากขึ้น มีผู้เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินหลายขั้นตอน ซึ่งผู้ที่ถูกกล่าวหามีสิทธิอ้างได้ว่าไม่รู้ว่าที่มาของทรัพย์สินที่ได้มานั้นมาจากการกระทำความผิด ซึ่งต้องไปพิสูจน์ต่อในชั้นศาล และตามกฎหมายผู้ที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินทั้งหมดมีโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิด คือจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึงสูงสุด 10 ปี
ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน การมีความผิดทางอาญานั้น มีการกำหนดขอบเขตไว้ 25 ความผิดมูลฐาน หากเป็นคดีที่เกี่ยวกับยาเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. จะมีอำนาจโดยตรงในการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อดำเนินการตาม พ.ร.บ.ปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด รวมทั้งดำเนินการกับทรัพย์สินของกลาง ซึ่งเป็นมาตรการริบทรัพย์ทางอาญา ส่วนการดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายฟอกเงินนั้นเป็นอีกหนึ่งคดีที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. มีอำนาจโดยตรง ที่รวมถึงการดำเนินคดีผู้ครอบครองทรัพย์สินหรือผู้ที่ช่วยเหลือปกปิดก็จะถูกดำเนินคดีตามความผิดฐานฟอกเงินด้วย.-สำนักข่าวไทย