บ.โทรคมนาคมแห่งชาติ 6 ก.ย.- นักวิชาการ มองบทบาทประชาชน คือ ปัจจัยที่จะทำให้ประชาธิปไตยมีความยั่งยืน ชี้ การใช้ กม.ยุบพรรคต้องรอบคอบ พร้อมตั้งคำถาม ยุบแล้วลบอุดมการณ์ทางการเมืองได้จริงหรือ ขณะที่การเปิดช่องทางให้ ปชช.เข้าถึงข้อมูล นำไปสู่การพัฒนาระบบการเลือกตั้ง ยกระดับมาตรฐานทางการเมือง นักศึกษาหลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูงรุ่นที่ 14 (พตส.14) จัดปาฐกถาและการนำเสนอยุทธศาสตร์เชิงปฏิบัติการต่อสาธารณะ โดยมีนายธงทอง จันทรางศุ ศาสตราภิชาน ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวปาฐกถาเรื่อง “ประชาธิปไตยฐานรากกับการสร้างพรรคการเมืองของประชาชน” นายธงทอง กล่าวถึง พรรคการเมืองกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่หลายประเทศและคนส่วนใหญ่ศรัทธาว่าเป็นระบบการปกครองที่มีส่วนเสียน้อยที่สุด ตนไม่สามารถบอกได้ว่าระบอบประชาธิปไตยนั้นมีความเพอร์เฟค แต่สามารถที่จะพัฒนาและสามารถที่จะติชม แก้ไขจุดอ่อนและแสวงหาความเจริญงอกงามขึ้นจากสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และส่งเสริมให้ก้าวหน้าได้เมื่อเทียบกับระบอบการปกครองอื่น นายธงทอง กล่าวว่า ปัจจัยที่จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยมีความยั่งยืนได้ คือบทบาทของประชาชน ซึ่งคำว่าพลเมือง คือผู้ที่เป็นกำลังของบ้านเมือง วิธีประชาธิปไตยต้องทำให้ประชาชนแอคทีฟและมีช่องทางในการแสดงความคิดเห็นได้ แต่รัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทยก็ได้พูดถึงเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งหากทุกคนไม่แสดงความคิดเห็นก็คงเดินหน้าไปไม่ได้ แต่ก็ต้องมีกรอบกติกาที่พอเหมาะ พรรคการเมืองเป็นการรวบรวมความเห็นประชาชนเพื่อนำไปสู่เป้าหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง ในรัฐธรรมนูญ มีทั้งระบบบัญชีรายชื่อและแบ่งเขต ซึ่งระบบบัญชีรายชื่อนั้นเป็นความเชื่อมโยงสำคัญกับการมีพรรคการเมือง ทำให้การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งอย่างเป็นชิ้นเป็นอัน ถึงเรื่องของนโยบายของแต่ละพรรค และพรรคการเมืองหลายพรรคสามารถเติบโตได้อย่างชัดเจนและบางพรรคกลับเสียสัดส่วนในระบบบัญชีรายชื่อลงไปเช่นกัน ทำให้เห็นว่าเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายและท่าทีทางการเมือง ในการเสริมสร้างพัฒนาการของพรรคการเมือง แต่หากยกระบบพรรคการเมืองออกไป […]