
นักวิชาการมองปมฟ้อง “ฮุน เซน” เกินเขตอำนาจศาลไทย
กทม. 23 มิ.ย. – นักวิชาการธรรมศาสตร์ วิเคราะห์สาเหตุที่ “กัมพูชา” ช่วงชิงการนำในการประกาศมาตรการต่างๆ ก่อนไทยดำเนินการ เช่น ระงับนำเข้าน้ำมันและก๊าซ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ประเทศที่กำลังปกป้องอธิปไตยจากผู้ถูกรุกราน ซึ่งจะได้ประโยชน์หากสถานการณ์ถึงจุดที่อาเซียนจะเข้ามาเป็นตัวกลางเจรจา ระบุกรณีไทยฟ้อง ฮุน เซน เกินเขตอำนาจศาลไทย ผศ. ธนภัทร ชาตินักรบ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยถึงกรณีที่ประเทศกัมพูชาประกาศระงับนำเข้าน้ำมันและก๊าซทุกชนิดจากประเทศไทยว่า เหตุผลที่กัมพูชาต้องช่วงชิงการนำในการตัดสินใจเชิงนโยบายต่างๆ ก่อนที่ประเทศไทยจะดำเนินการ เช่น การประกาศระงับการนำเข้าน้ำมันและก๊าซทุกชนิดจากไทยก่อนที่ไทยจะประกาศระงับการส่งออกไปยังกัมพูชานั้น ถือเป็นแนวทางการตอบโต้ที่เรียกว่าการทูตเชิงรุก เพื่อวางกรอบภาพลักษณ์ให้ตัวเองดูเป็นประเทศที่มั่นคงและยึดหลักการปกป้องอธิปไตยของตนเอง มากกว่าเป็นประเทศเล็กๆ ผู้ถูกรุกรานที่คอยตั้งรับเพียงอย่างเดียว และยิ่งกัมพูชาพยายามแสดงว่าการกดดันของไทยไม่เป็นผลมากเท่าใด ก็จะยิ่งทำให้ไทยต้องยกระดับมาตรการกดดันให้เข้มข้นมากขึ้นอีก ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้จะทำให้ไทยมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดีในสายตาของเวทีระหว่างประเทศ แต่กลับทำให้กัมพูชาดูดีในฐานะประเทศที่กำลังปกป้องอธิปไตยตนเองจากผู้รุกราน ผศ. ธนภัทร กล่าวว่า หากไทยยกระดับมาตรการกดดันขึ้นไปเรื่อยๆ จนผลกระทบขยายตัวและลุกลามไปจนเริ่มสร้างผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่กัมพูชา เกิดเป็นความเสียหายต่อเศรษฐกิจหรือการค้าในระดับภูมิภาคอาเซียน ตรงนี้จะเป็นการตอกย้ำว่ากลไกคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา หรือ JBC ใช้ไม่ได้ผล จำเป็นต้องมีประเทศที่ 3 หรือเวทีนานาชาติในระดับอาเซียนเข้ามาเป็นตัวกลางในการเจรจาหาทางออก ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง กัมพูชาจะมีภาพจำว่าเป็นผู้ปกป้องอธิปไตยของตนเองและตอบโต้ไทยอย่างมีหลักการ ขณะที่ไทยคือผู้รุกรานที่ยกระดับมาตรการกดดันจนกระทบต่ออาเซียน สิ่งเหล่านี้อาจเป็นเหตุผลที่กัมพูชาพยายามช่วงชิงการนำ […]