โรงแรมอัศวินฯ 14 ก.ค.-“นักวิชาการ-สื่อ” มองศาลยุคปัจจุบันปรับตัว รับคำวิจารณ์ เป็นหลักประชาธิปไตย ชี้หากแก้ไขที่มาตุลาการให้เลือกตั้ง หวั่นซ้ำรอยต่างประเทศ ขอให้ปรับการสื่อสาร เร็ว-เข้าใจง่าย ซัดนักการเมืองมองรัฐธรรมนูญเป็นต้นไม้พิษ แต่เลือกกินผลที่เป็นประโยชน์ ไม่เคยแก้ไขตัวเอง แต่อ้างนิติสงคราม
ศาลรัฐธรรมนูญ จัดการเสวนาหัวข้อ “การสร้างระบบถ่วงดุลและบทบาทหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญในอนาคต” นายวันวิชิต บุญโปร่ง รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า มีการตั้งคำถามว่ามีสิทธิ์อะไรที่คนแค่ 9 คน มาตัดสินอนาคต หรือคนที่ได้รับฉันทามติจากประชาชนโดยตรงนั้น แต่ปัญหาการสื่อสาร รับข้อความบ้านเรา ชอบมองที่ปลายน้ำไม่มองต้นน้ำ ว่าที่ถูกร้องเรียนนั้นเพราะอะไร แล้วเอาปลายน้ำมาตั้งคำถาม และถามการได้มาของศาลรัฐธรรมนูญ ถ้าต้องการประชาธิปไตยจ๋า แบบเม็กซิโก ประชาชนเลือกตั้งศาลทุกระดับ พบว่าประชาชนใช้สิทธิ์แค่ 13% หรือแค่ล้านกว่าคน จากจำนวนคนของทั้งประเทศ ทำให้มีการวิจารณ์ระบบยุติธรรมของชาติตามมา ฝ่ายการเมืองก็คิดวางอำนาจของตน กลายเป็นว่าศาลต้องวิ่งหานักการเมือง วิ่งหาฐานเสียง ทำให้คนมองว่ากระบวนการยุติธรรมถูกปู้ยี้ปู้ยำ แต่ฝ่ายการเมืองบอกว่านี่คือประชาธิปไตย ดังนั้นหากเรื่องนี้เกิดขึ้นในไทย คิดว่าคนค่อนประเทศ หรือส่วนใหญ่จะสวดชยันต์โต ย้อนไปร้อยกว่าปี อำนาจศาล พระเดชพระคุณอยู่ที่คนคนเดียว แล้วจะเอาอย่างนั้นหรือ
“ผมคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.นี้ มีการน้อมรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์และการตั้งคำถามของสื่อ นักวิชาการ นักวิเคราะห์ ซึ่งนี่คือโลกของประชาธิปไตยที่ยอมรับการแสดงความเห็นหลายด้าน ผมไม่ได้มาชม แต่เห็นว่าพัฒนาการของศาลดีขึ้นตามลำดับ” นายวันวิชิต กล่าว
นายวันวิชิต ยังกล่าวว่าส่วนกรณีให้มีศาลจริยธรรมตรวจสอบดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญอีกเหมือนบางประเทศ จะกลายเป็นการฟอก หรือดึงเช็ง และเป็นประเด็นถกเถียงกันอีก ทั้งนี้ผลการตัดสินย่อมมีทั้งคนเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ซึ่งเป็นเรื่องปกติ แต่การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีการเปิดเผยมติและความเห็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้นถือเป็นความโปร่งใสแล้ว อย่างมติ 7 ต่อ 2 เสียง ที่ให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่ กับไม่หยุด มีคนระดับนายพลมาถามว่า ทำไมเป็นแบบนี้ นี่แสดงว่าเขาไม่อ่านเนื้อหาข้างใน ซึ่งบรรยายเหตุผลไว้อยู่แล้วว่า เพราะอะไร และเห็นด้วยว่าควรมีโฆษกศาลฯ เพื่อตอบคำถามมากกว่าเพลส หรือแถลงการณ์ เพื่อลดความฟุ้งซ่านของสังคม และทันต่อสถานการณ์
นายชวรงค์ ลิมปัทมปาณี ประธานสภาสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวว่า คนมองศาลรัฐธรรมนูญว่าเป็นศาลการเมือง ต่างจากหลายประเทศ โดยเฉพาะปัจจุบันศาลรัฐธรรม ตามรัฐธรมนูญปี 2560 มีอำนาจเพิ่มขึ้นในการตัดสินจริยธรรมนักการเมืองที่เป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ แต่ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะการเมืองมีหลายฝ่าย แต่ประเด็นการสื่อสารของสื่อที่มีหลายช่องทางและใช้ความเร็วในการชิงพื้นที่ จึงสื่อสารสั้นๆ เช่น มติ 7 ต่อ 2 สั้นๆ จึงต้องมีคำอธิบายออกมาเร็ว ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญถือว่า มีเอกสารเผยแพร่ออกมาเร็ว แต่ใช้ภาษาอ่านยาก จึงต้องพัฒนา ควรสรุปย่อคำวินิจฉัย คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ที่อ่านเข้าใจง่าย ไม่ใช้ภาษากฎหมาย ภาษาศาล ส่วนกรณีที่มีการบิดถ้อยคำ หรือมีนักแบกต่างๆ นั้นเห็นว่าควรมีโฆษกศาล ที่สามารถอธิบายคำวินิจฉัยข้อสงสัย และให้ความเห็นได้
นายมนตรี จอมพันธ์ สื่อมวลชนอาวุโส กล่าวว่า การได้มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากการสรรหา และผ่านการเห็นของของวุฒิสภา เป็นเรื่องที่ถูกตั้งคำถาม และมีการยื่นแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญและแก้ไขตรงนี้ เช่น ให้เป็นความเห็นร่วมระหว่างรัฐสภา และวุฒิสภา ซึ่งต้องจับตาว่าจะผ่านหรือไม่ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ กรณีการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญล่าสุด คนที่ได้รับการสรรหาแทบได้เสียงเอกฉันท์จากกรรมการสรรหา แต่พอเสนอเข้าวุฒิสภากลับไม่ผ่าน ให้กลับมาสรรหาใหม่ สิ่งที่เกิดขึ้น คือ คนที่ไม่ได้รับการสรรหาในรอบแรก รอบนี้กลับได้ และเข้าสู่รอบสุดท้ายแล้ว ซึ่งเรื่องนี้เราทำอะไรไม่ได้เพราะเป็นไปตามกติกา เมื่อเขียนที่มาให้เป็นแบบนี้ แต่สิ่งที่สื่อมวลชน และนักวิชาการต้องทำคือการจับตาและร่วมการกันตรวจสอบ
นายมนตรี กล่าวต่อถึงการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญขอฝ่ายต่างๆ ขณะนี้ว่า ตนคิดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นาทีนี้คงลำบาก แต่ตนเห็นว่า ที่ผ่านมามักเอารัฐธรรมนูญมาเป็นปัญหา บอกว่าเป็นต้นไม้พิษ แต่จริงๆ คนกลับเลือกกินบางผลที่เป็นประโยชน์กับตนเอง เช่นเดียวกับเรื่องรัฐประหารที่เลือกบางอย่างมาใช้ แล้ววันนี้ก็มามองว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามคิดว่า การแก้ไขเพื่อเป็นหลักประกันทุกฝ่าย ปัญหาหนึ่งที่ผ่านมาที่ไม่เคยแก้เลยคือนักการเมือง หรือคน ไม่เคยมองว่าตนเองเป็นปัญหาและไม่เคยแก้ไข ทั้งนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทบทวนคือ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เดิมที่ผ่านมาไม่มีภารหน้าที่มากนัก แต่วันนี้ทุกอย่างมาที่ศาลรัฐธรรมนูญหมด พอเรื่องที่ไม่เป็นคุณ ก็มองว่าคน 9 คน ตัดสินไม่ถูกต้อง หรือบางครั้งคนพูดเรื่องนี้แล้วเห็นว่าเรื่องไหนที่รอก่อน ก็มาถามศาล เช่น แก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทำประชามติกี่ครั้ง ซึ่งย้ำว่าถ้าจะแก้จริงๆ ไม่ต้องนับหนึ่งตั้งกรรมการคณะแรกด้วยซ้ำ แถมยังแวะกลางทางเรื่อยๆ สุดท้ายต้องมาถามศาล ดังนั้นต้องทบทวนการได้มาของศาลรัฐธรรมนูญ และทบทวนบทบาทหน้าที่ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ว่าจะเอาทุกเรื่องตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบหรือไม่ อย่างที่นักการเมืองบอกว่าเรื่องจริยธรรมให้องค์กรดูได้หรือไม่ ศาลจะได้ไม่พลอยเป็นจำเลย คำว่านิติสงครามจะได้ไม่ถูกนำมาพูดถึง ทั้งที่ศาลท่านให้ความเป็นธรรมกับผู้คนทั้งหลายที่ทำอย่างตรงไปตรงมา
“คำว่า นิติสงครามจะไม่เกิดขึ้น ถ้าเกิดว่าไม่มีคนไปท้าทาย ฉวัดเฉวียน โฉบอยู่เรื่อย เส้นทุกเส้นมันเลยไปหมดแล้ว แม้กระทั้งที่เป็นข่าวอยู่วันสองวัน ถ้ามีคนไปร้องก็หาว่ากลายเป็นลูกอีช่างฟ้อง แต่ถ้าไม่ทำ เขาจะไปฟ้องไหม ก็เพราะว่าไปโฉบๆ เฉี่ยวๆ จนกระทั่งเป็นปัญหา แต่พอไม่พอใจก็บอกว่านี่เป็นนิติสงคราม” นายมนตรี กล่าว.-314.-สำนักข่าวไทย