กรุงเทพฯ 22 ก.ค. – อธิบดีกรมปศุสัตว์แนะเกษตรกรดูแลสัตว์เข้ม เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวนจากฝนจะทำร่างกายสัตว์อ่อนแอ-ภูมิคุ้มกันต่ำ หวั่นติดโรคปากเท้าเปื่อย-ASF-PRRS-หวัดนก-นิวคาสเซิล-อหิวาต์สัตว์ปีก
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ระยะนี้ฝนเริ่มกลับมาตกในหลายพื้นที่หลังทิ้งช่วง จึงขอให้เกษตรกรเฝ้าระวังสุขภาพสัตว์ เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน ฝนตกหนัก น้ำท่วมขัง สัตว์เกิดความเครียดและร่างกายอ่อนแอ ทำให้ภูมิคุ้มกันโรคลดต่ำลง ส่งผลให้มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ง่าย โรคสัตว์ที่อาจจะพบได้ในช่วงหน้าฝน ได้แก่ โรคปากและเท้าเปื่อย เป็นโรคระบาดที่สำคัญที่สุดโรคหนึ่งในโค กระบือ แพะ แกะ สุกร ซึ่งสร้างความเสียหายต่อเกษตรกร และเศรษฐกิจของประเทศอย่างร้ายแรง เนื่องจากติดต่อกันง่าย และแพร่ระบาดได้รวดเร็วมาก โดยสัตว์จะติดเชื้อไวรัสจากการสัมผัสสัตว์ป่วยโดยตรง การกินอาหารและน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อน รวมถึงการหายใจเอาเชื้อไวรัสเข้าไป สัตว์ป่วยจะแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อ 2-7 วัน คือ ซึม มีไข้ เบื่ออาหาร มีเม็ดตุ่มพองเกิดขึ้นภายในปาก จมูก และไรกีบ ทำให้สัตว์เกิดความเจ็บปวด น้ำลายไหล กินอาหารไม่ได้ เดินกะเผลก กีบหลุด ซูบผอม โตช้า แท้งลูก ผสมไม่ติด ส่วนโรคคอบวม ทำให้กระบือและโคมีอาการคอหรือหน้าบวมแข็ง หายใจเสียงดัง หรือหอบ ยืดคอไปข้างหน้า ส่วนใหญ่มักมีอาการแบบเฉียบพลัน คือ ไข้สูง น้ำลายฟูมปาก หยุดกินอาหาร และตายภายในไม่กี่ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม โรคปากและเท้าเปื่อยและโรคคอบวม สามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนให้กับสัตว์เป็นประจำทุกปี
ทั้งนี้ ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ โรคอหิวาต์แอฟริการในสุกร (ASF) ซึ่งระบาดในประเทศจีนและประเทศเพื่อนบ้านเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ยังไม่มีวัคซีนป้องกันหรือยาในการรักษา อาการของโรค มีดังนี้ ตายเฉียบพลัน มีไข้สูง นอนสุมกัน ผิวหนังแดง มีจุดเลือดออกหรือรอยช้ำโดยเฉพาะใบหู ท้อง ขาหลัง มีอาการทางระบบอื่น เช่น ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร การแท้งในทุกช่วงอายุของการตั้งท้อง หากสุกรป่วยแล้วจะตายเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยที่ผ่านมาเกษตรกรให้ความร่วมมือในการป้องกันโรคเป็นอย่างดี ทำให้ไม่มีการระบาดในไทย นอกจากนี้ยังต้องป้องกันโรค PRRS เกิดจากเชื้อไวรัส ส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ และระบบทางเดินหายใจ ทำให้สุกรมีการแท้งลูก ในระยะท้ายของการตั้งท้อง สุกรในฝูงจะติดโรคจากการสัมผัสสุกรป่วย และการผสมพันธุ์ การป้องกันโรคคือ ควบคุมการนำสุกรใหม่เข้าฝูง โดยการแยกเลี้ยงประมาณ 1 เดือน และต้องเป็นสุกรที่มาจากฟาร์มที่มีระบบป้องกันโรคที่ดี หรือเป็นฟาร์มมาตรฐานที่กรมปศุสัตว์รับรอง รวมทั้งใช้พ่อพันธุ์หรือน้ำเชื้อจากฟาร์มในกลุ่มผู้เลี้ยงเดียวกันและปลอดจากเชื้อไวรัส PRRS อีกทั้งต้องมีการสุขาภิบาลการเลี้ยงสุกรที่ดี
ส่วนโรคระบาดในสัตว์ปีกที่เกษตรกรควรเฝ้าระวังในฤดูฝน ได้แก่ โรคไข้หวัดนก โรคนิวคาสเซิล และโรคอหิวาต์สัตว์ปีก โดยเฉพาะโรคไข้หวัดนกที่ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะไม่พบโรคนี้มานานกว่า 8 ปีแล้ว แต่ยังคงมีความเสี่ยงที่อาจกลับมาแพร่ระบาดในประเทศไทยได้อีก เนื่องจากมีการพบการระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศต่างๆ ทั้งนี้ หากพบสัตว์ปีกป่วยตายไม่ทราบสาเหตุ หรือมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ เช่น หายใจลำบาก หน้าบวม น้ำตาไหล อาการทางระบบประสาท เช่น คอบิด ชักเกร็ง และอาการอื่น ๆ เช่น ท้องเสีย ขนยุ่ง ซึม ไม่กินอาหาร ไข่ลด ไข่รูปร่างผิดปกติ หงอน เหนียงสีคล้ำ หรือหน้าแข้งมีจุดเลือดออก ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที เพื่อดำเนินการควบคุมโรคไม่ให้โรคแพร่กระจายออกไป
นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวต่อว่า ขอเน้นย้ำเกษตรกรให้ความสำคัญกับการจัดการโรงเรือนหรือคอกเลี้ยงสัตว์ที่ดี มีหลังคา ป้องกันฝน ลม และละอองฝนได้เป็นอย่างดี หรือจัดเตรียมสถานที่ที่ให้สัตว์สามารถหลบฝนได้ มีการจัดเตรียมน้ำ อาหาร ยา และเวชภัณฑ์ให้พร้อม ทำวัคซีนตามโปรแกรมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างให้สุขภาพสัตว์แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยได้ง่าย และต้องใช้หลักความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) ในการป้องกันโรคเข้าสู่ฟาร์ม เช่น โรงเรือนมีรั้วรอบขอบชิด สามารถป้องกันสัตว์อื่น ๆ หรือสัตว์พาหะเข้าสู่ฟาร์ม, ห้ามบุคคลภายนอกเข้าฟาร์ม หากจำเป็นต้องเปลี่ยนรองเท้าบูตที่ใช้เฉพาะในฟาร์ม และเดินผ่านอ่างน้ำยาฆ่าเชื้อทุกครั้งก่อนเข้าโรงเรือน ห้ามยานพาหนะทุกชนิด เช่น รถรับซื้อสัตว์ รถขนอาหารสัตว์ รถรับซื้อมูลสัตว์เข้าภายในฟาร์มโดยเด็ดขาด หากจำเป็น ต้องพ่นยาฆ่าเชื้อโรค.-สำนักข่าวไทย