5 พ.ค.- โรคแอนแทรกซ์ยังไม่มีรายงานการติดต่อจากคนสู่คน โดยเชื้อสามารถแพร่ได้ 3 ทาง คือ การสัมผัส การรับประทาน การหายใจ กรมปศุสัตว์ ยังไม่ตัดประเด็นเชื้อปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม พร้อมสั่งเข้มเคลื่อนย้ายสัตว์เข้า-ออกพื้นที่
นายสัตวแพทย์บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์เปิดเผยความคืบหน้าการสอบสวนโรคและมาตรการควบคุมการระบาดของโรคแอนแทรกซ์ หลังพบผู้ป่วยติดเชื้อเสียชีวิต ในตำบลเหล่าหมี อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุข แจ้งว่าพบผู้ป่วยเพิ่มอีก 1 ราย ถัดจากผู้เสียชีวิต และเพื่อนของผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นการติดเชื้อ ทางผิวหนังเช่นเดียวกัน มีไข้และมีตุ่มพอง ขณะนี้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแล้ว
ปัจจุบัน สถานการณ์โรคแอนแทรกซ์ จังหวัดมุกดาหาร พบผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ 1 ราย สะสมรวม 3 ราย เสียชีวิต 1 ราย อยู่ระหว่างรักษา 2 ราย ที่รพ.มุกดาหาร และ รพ.ดอนตาล แห่งละ 1 ราย ผู้สัมผัส สิ้นสุดระยะเวลาเฝ้าระวังโรค 538 ราย เพราะผลระยะฟักตัวทางผิวหนัง
ขณะที่การสอบสวนที่มาของโรค กรมปศุสัตว์ได้สอบสวนโรคด้วยการเก็บตัวอย่างเนื้อสัตว์ในตู้เย็น ซึ่งมีการชำแหละเมื่อวันที่ 12 เมษายน รวมถึงเก็บตัวอย่างจากสัตว์ร่วมฝูง ที่อยู่ใกล้จุดชำแหละซาก ผลการตรวจไม่พบเชื้อ แต่ผลการเก็บตัวอย่างจากเขียงและมีด รวมถึงจากดินบริเวณที่ล้างเครื่องมือชำแหละ ให้ผลเป็นบวก สอดคล้องกับผลตรวจของกระทรวงสาธารณสุขที่ได้เก็บจากซากวัว โดยได้รับแจ้งจากชาวบ้านในภายหลังว่า มีวัวตายและนำไปฝัง จึงขุดซากมาเก็บตัวอย่างส่งห้องปฏิบัติการ
ยังไม่ตัดประเด็น เชื้อ ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม แม้จะพบซากสัตว์ที่ติดเชื้อ แต่ยังไม่แน่ชัดว่า เป็นการติดจากสัตว์สู่สัตว์โดยตรง เนื่องจากตรวจสอบพบว่า การนำโคฝูงใหม่เข้ามาในพื้นที่ ได้นำเข้ามากว่า 1 เดือนแล้ว เมื่อตรวจสอบย้อนกลับ ต้นทางก็ไม่พบการเกิดโรค ดังนั้นยังไม่ตัดประเด็นความเป็นไปได้ว่า เชื้ออาจปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม
กรมปศุสัตว์ให้สัตว์ใน 3 คอกที่อยู่ติดจุดชำแหละ ได้รับยาปฏิชีวนะต่อเนื่อง 5 วัน และดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคในรัศมี 5 กิโลเมตรแล้วกว่า 1,000 ตัว พร้อมดำเนินการพ่นยาฆ่าเชื้อในพื้นที่ และวางแผนทำลายเชื้อในดินบริเวณที่ตรวจพบ โดยขุดผิวหน้าดิน ผสมยาฆ่าเชื้อและฝังกลบที่ระดับความลึกไม่น้อยกว่า 2 เมตร เนื่องจากเชื้อแอนแทรกซ์ สามารถอยู่ในสภาพแวดล้อม เช่น ในดินได้นานหลายสิบปี
โรคแอนแทรกซ์ยังไม่มีรายงานการติดต่อจากคนสู่คน โดยเชื้อสามารถแพร่ ได้ 3 ทาง คือ
- “การสัมผัส” จากการชำแหละสัตว์ที่ป่วยตายจากโรคแอนแทรกซ์ ติดเชื้อโดยสปอร์ของเชื้อเข้าสู่บาดแผลและรอยถลอก
- “การรับประทาน” หากรับประทานเนื้อสัตว์ที่ป่วยดิบหรือปรุงไม่สุก อาจจะติดเชื้อในทางเดินอาหาร มีอาการไข้สูง ไม่สบายท้อง คลื่นไส้ อาเจียน คล้ายกับอาการอาหารเป็นพิษ ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา อาจติดเชื้อในกระแสเลือดทำให้เสียชีวิตได้
- “การหายใจ” ซึ่งพบได้น้อย โดยเชื้อจะปนเปื้อนอยู่บริเวณที่สัตว์ป่วยหรือเสียชีวิต สามารถฝังตัวอยู่ได้เป็นเดือนหรือเป็นปี
.-สำนักข่าวไทย