6 พ.ค. – อธิบดีกรมปศุสัตว์เผย “นฤมล-อิทธิ” ห่วงสถานการณ์โรคแอนแทรกซ์ สั่งกรมปศุสัตว์ดำเนินมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด ย้ำการเกิดโรคยังอยู่ในวงจำกัด โคเนื้อเสี่ยง 124 ตัว ได้รับวัคซีนครบถ้วน รวมทั้งฉีดวัคซีนโคในพื้นที่ไปแล้ว 1,222 ตัว ส่วนผู้ติดเชื้อล่าสุดพบรายที่ 4
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และนายอิทธิ ศิริลัทยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำชับให้กรมปศุสัตว์ดำเนินมาตรการเฝ้าระวัง ควบคุมป้องกันโรคแอนแทรกซ์อย่างเข้มงวดในจุดที่พบผู้ติดเชื้อในพื้นที่อำเภอดอนตาล และพื้นที่ใกล้เคียงของจังหวัดมุกดาหาร ตลอดจนพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-ลาว ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้ดำเนินมาตรการที่เข้มงวด ดังนี้ 1. กักและฉีดยาปฏิชีวนะต่อเนื่อง 7 วันให้โคทั้ง 124 ตัว รวมถึงสนับสนุนหญ้าอาหารสัตว์ จำนวน 1,200 ฟ่อน ให้โค 124 ตัวในช่วงที่สั่งกักเพื่อเฝ้าระวังโรค 2. ทำลายเชื้อบริเวณคอกเลี้ยงสัตว์และพื้นที่เสี่ยงด้วยโซดาไฟ
- ฉีดวัคซีนป้องกันโรคแอนแทรกซ์ในโค กระบือในพื้นที่โดยรอบรัศมี 5 กิโลเมตรและในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องรวมทั้งสิ้น 1,222 ตัว
- ตั้งจุดตรวจโดยเจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ เพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ไม่ให้เข้า-ออกจากพื้นที่เสี่ยงในรัศมี 5 กิโลเมตร 5. ประสานฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร และหน่วยงานความมั่นคง เพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบ ลาดตระเวน และป้องกันการลักลอบนำเข้าสัตว์ เนื้อสัตว์ และผลิตภัณฑ์สัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน 6.ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกร หากพบสัตว์ป่วย ตาย ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรืออาสาปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที ห้ามชำแหละหรือจำหน่ายบริโภค โดยเปิดสายด่วน หมายเลขโทรศัพท์ 063 225 6888 หรือ แจ้งผ่าน Application DLD 4.0 ตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ การสอบสวนโรคเพื่อหาแหล่งที่มาของเชื้ออยู่ระหว่างการดำเนินการโดยนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ในการสอบสวนโรคทางระบาดวิทยาของกรมปศุสัตว์และกรมควบคุมโรค จากรายงานของกรมควบคุมโรค ณ วันที่ 5 พฤษภาคม 2568 พบว่า ผู้ติดเชื้อยังอยู่ในวงจำกัดเฉพาะในหมู่บ้านที่ตำบลเหล่าหมี อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อในคน รวม 4 ราย โดยรายแรกเสียชีวิต ส่วนอีก 3 ราย มีอาการเป็นแผลที่ผิวหนัง และอยู่ระหว่างรักษา


อธิบดีกรมปศุสัตว์ ย้ำเตือนเกษตรกร หากพบสัตว์ป่วยหรือตายผิดปกติ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที เพื่อเข้าตรวจสอบและควบคุมโรคอย่างทันท่วงที ห้ามชำแหละ จำหน่ายจ่ายแจกและบริโภคโดยเด็ดขาด หากเกษตรกรหรือประชาชน มีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถแจ้งผ่านทาง Application DLD 4.0 หรือสอบถามทางโทรศัพท์สายด่วน 063 225 6888 ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง. -512-สำนักข่าวไทย