กรุงเทพฯ 2 พ.ค. – กรมปศุสัตว์ เร่งสอบสวนต้นตอการระบาดโรคแอนแทรกซ์ หลังพบผู้ป่วยเสียชีวิตที่ จ.มุกดาหาร พร้อมตั้งข้อสังเกตสถานการณ์ก่อนหน้านี้ พื้นที่ชายแดนติดกับ สปป ลาว มีเหตุน้ำท่วม อาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เชื้อโรคแพร่กระจาย เข้มห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ เพื่อควบคุมโรค
นายสัตวแพทย์ สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์พื้นที่และชุดเฉพาะกิจพญาไท ลงพื้นที่สอบสวนต้นเหตุของการพบโรคแอนแทรกซ์ทันที หลังรับรายงานชายวัย 52 ปี ใน ต.เหล่าหมี อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร ป่วยด้วยโรคนี้ และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา พร้อมทั้งดำเนินมาตรการควบคุมโรคในวงจำกัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด
การสอบสวนโรคดำเนินการร่วมกันระหว่างกรมปศุสัตว์ และกระทรวงสาธารณสุข โดยได้เก็บตัวอย่างจากสัตว์และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ คาดว่าจะทราบผลภายใน 7 วัน เพื่อยืนยันแหล่งที่มาของเชื้อและประเมินความเสี่ยง
กรมปศุสัตว์ตั้งข้อสันนิษฐานถึงสาเหตุการพบโรคในประเทศไทยว่า อาจเกิดจาก 2 ทางหลัก ได้แก่ 1.การติดเชื้อจากสัตว์ที่ป่วยและกลายเป็นพาหะ โดยเฉพาะโค กระบือ หรือแพะ ที่อาจติดเชื้อจากอาหารหรือแหล่งน้ำที่ปนเปื้อน 2.การติดเชื้อจากสิ่งแวดล้อม เนื่องจากสปอร์ของเชื้อ Bacillus anthracis สามารถคงสภาพอยู่ในดินได้นานหลายสิบปี เมื่อเกิดน้ำท่วมหรือดินถล่ม สปอร์อาจฟื้นตัวและแพร่กระจายสู่สัตว์หรือมนุษย์
ทั้งนี้ พื้นที่เกิดเหตุอยู่ติดกับเขตชายแดน สปป ลาว ซึ่งมีรายงานการพบโรคแอนแทรกซ์ ต่อมาเกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ในหลายพื้นที่ น้ำที่ท่วมอาจพัดพาเชื้อโรคเข้าสู่ระบบนิเวศในพื้นที่ชายแดนมุกดาหาร อีกทั้งเชื้อนี้ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมได้เป็นเวลานาน อาจเกิดปัจจัยกระตุ้นให้เชื้อที่หลบซ่อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมกลับมาแพร่กระจายอีกครั้ง ซึ่งกรมปศุสัตว์อยู่ระหว่างตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูล
นายสัตวแพทย์บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า เพื่อเตรียมความพร้อมควบคุมโรคและป้องกันการแพร่ระบาดในสัตว์ กรมปศุสัตว์ได้จัดเตรียมวัคซีนป้องกันโรคแอนแทรกซ์ จำนวน 9,000 โดส สำหรับฉีดให้กับสัตว์กลุ่มเสี่ยงในพื้นที่เกิดเหตุ ทั้งโค กระบือ แพะ และแกะ รวมทั้งพื้นที่เสี่ยงอื่นๆ ด้วย พร้อมสนับสนุนวัคซีนเพิ่มเติมตามสถานการณ์
ขณะนี้ยังไม่พบสัตว์ป่วยในพื้นที่ จากการเก็บตัวอย่างบริเวณจุดชำแหละ ตัวอย่างสัตว์ร่วมฝูงและคอกสัตว์ที่อยู่ใกล้จุดชำแหละซาก รวมทั้งตัวอย่างเนื้อสัตว์ที่เก็บจากตู้เย็น ผลการตรวจทั้งหมด ไม่พบเชื้อ (ผลเป็นลบ) อยู่ระหว่างรอผลตรวจตัวอย่างสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม
มาตรการควบคุมโรคที่ดำเนินการในพื้นที่ ได้แก่ ห้ามฆ่าและชำแหละโค กระบือในพื้นที่เสี่ยง ห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์ทุกชนิดออกจากพื้นที่ควบคุม ฉีดวัคซีนป้องกันโรคแอนแทรกซ์ให้สัตว์กลุ่มเสี่ยง
ตั้งจุดเฝ้าระวังและควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์และซากสัตว์ ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์ที่ตายผิดปกติ สำรวจประชากรสัตว์และกลุ่มเสี่ยงที่สัมผัสสัตว์ป่วย
ข้อแนะนำแก่เกษตรกร หากพบสัตว์ป่วยหรือสัตว์ตายผิดปกติ โดยเฉพาะโค กระบือ แพะ หรือแกะ ควรสังเกตอาการ เช่น มีไข้สูง ซึม เบื่ออาหาร มีเลือดออกทางจมูก ปาก หรือทวาร ซากสัตว์บวมผิดปกติ เลือดที่ออกมีลักษณะสีเข้มและแข็งตัวช้า หากสงสัยสัตว์ติดโรคแอนแทรกซ์ ห้ามเคลื่อนย้ายหรือชำแหละสัตว์ และแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์หรืออาสาปศุสัตว์ในพื้นที่ทันที
กรมปศุสัตว์เฝ้าระวังและควบคุมโรคอย่างเข้มงวด ขอความร่วมมือเกษตรกร หากพบสัตว์ป่วยหรือตายผิดปกติ รวมถึงผู้ที่มีอาการผิดปกติ เช่น ไข้ ผื่น หายใจลำบาก ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่หรือพบแพทย์ทันที
โรคแอนแทรกซ์เป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ หากได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที จึงขอให้ประชาชนอย่าตื่นตระหนก แต่ให้เฝ้าระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด.-512-สำนักข่าวไทย