กรุงเทพฯ 19 มี.ค.- แม้รัฐบาลจะยืนยันถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ไม่รุนแรงถึงขั้นต้องกักตุนอาหาร แต่ประชาชนส่วนหนึ่งก็เลือกที่จะซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภค เตรียมพร้อมไว้ เพราะเห็นภาพคนแห่ซื้อสินค้าจากสื่อโซเชียล จนกลัวว่าจะขาดแคลน แต่ทางผู้ผลิตยืนยันว่า มีสตอกเพียงพอ และพร้อมผลิตเพิ่มหากเกิดวิกฤติ
บรรยากาศภายในห้างค้าปลีกย่านราชประสงค์ มีผู้คนมาซื้อสินค้าจำนวนมาก โดยเฉพาะสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็น เช่น อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ข้าวสาร น้ำดื่ม และกระดาษชำระ ทางห้างต้องจัดพนักงานเพื่อเติมสินค้าให้เต็มตลอดเวลา
ผู้ซื้อสินค้าบอกว่า ภาพคนแห่ซื้อสินค้าในสื่อโซเชียล ทำให้เธอตัดสินใจเดินทางมาซื้อของใช้ที่จำเป็นทันที จากเดิมที่เคยซื้อเพียงเดือนละครั้ง แต่ครั้งนี้ต้องซื้อในปริมาณที่มากขึ้น
มีข้อมูลว่า ในช่วงการเกิดสาธารณภัย หรือโรคระบาด สินค้าที่ที่เป็นที่ต้องการจำนวนมาก คือ อาหารแปรรูปและอาหารแห้ง ที่เก็บได้นาน ทานได้ทันที ปัจจุบันไทยมีอุตสาหกรรมเพื่อแปรรูปอาหารและเครื่องดื่มกว่า 50,000 โรงงาน สามารถผลิตรองรับประชากรได้กว่า 100 ล้านคน/ปี เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีกำลังการผลิต 10 ล้านซอง/วัน และสามารถเพิ่มได้ถึง 15 ล้านซอง/วัน ปลากระป๋องผลิตได้กว่า 22,000 ตัน/เดือน และน้ำดื่มผลิตได้กว่า 400 ล้านลิตร/เดือน
นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูประบุว่า ขณะนี้ไม่มีความจำเป็นต้องกักตุนอาหาร เพราะไทยถือเป็นประเทศผู้ผลิต ที่มีวัถตุดิบป้อนเข้าสู่โรงงานได้เอง ต่างจากหลายประเทศที่ต้องนำเข้าสินค้า ซึ่งในขณะนี้ผู้ประกอบการใช้กำลังการผลิตอยู่เพียงร้อยละ60-70 หากเกิดวิกฤติ ก็จะเพิ่มกำลังการผลิตได้
ผู้ผลิตสินค้ายังประเมินสถานการณ์อยู่ตลอด และเตรียมพร้อมหากเกิดการแพร่ระบาดในโรงงาน จนต้องหยุดการผลิต ก็ยังมีสินค้าในสตอก ทั้งจากส่วนกลางและศูนย์กระจายบสินค้าในภูมิภาค ซึ่งมากพอสำหรับการบริโภคในประเทศและส่งออก ซึ่งอาหารบางชนิด เช่น อาหารบรรจุกระป๋อง สามารถสตอกสินค้าและเก็บได้นานถึง 3 ปี และการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส แตกต่างจากการเกิดสาธารณภัยอื่นๆ เช่น น้ำท่วม ที่การขนส่งถูกตัดขาด แต่ครั้งนี้ยังสามารถขนส่งสินค้าได้ตามปกติ ไม่มีการปิดเส้นทาง จึงทำให้ผู้ผลิตสามารถกระจายสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคได้.-สำนักข่าวไทย