รร.เคมปินสกี้ 23 ก.ย. – รมว.คลังย้ำปรับโครงสร้างไทยสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ยืนยันประชารัฐสร้างไทยยกระดับเศรษฐกิจฐานราก
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมมนา “ทางออกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจโลก” ว่า มองว่าเศรษฐกิจโลกยังไม่ถึงขั้นวิกฤติเป็นเพียงการชะลอตัว ไทยต้องปรับตัวสร้างภูมิคุ้มกันภายในประเทศ ยอมรับว่าขณะนี้ไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มรายได้สูงของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง ต้องใช้เวลา 1 ชั่วอายุคนในการก้าวข้ามจากประเทศรายได้น้อยหรือยากจนมาสู่รายได้ปานกลาง เมื่อกระแสโลกเปลี่ยนไปมากเทคโนโลยีจึงเป็นกุญแจสร้างโอกาสให้กับประเทศ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคดิจิทัล และทุกประเทศต่างเห็นภาพเดียวกันต้องเดินทางด้วยการใช้เทคโนโลยีและดิจิทัล เพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างนวัตกรรม หวังแก้ปัญหาสะสมในอดีต เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประเทศ ต้องดูแลไปถึงร้านค้าโชห่วย วิสาหกิจชุมชน
นายอุตตม กล่าวว่า ไทยต้องพัฒนาเทคโนโลยีเป็นพื้นฐานหลัก เช่น การผลิตแบตเตอรี่รองรับรถยนต์ไฟฟ้า ไม่ใช่แค่เพียงนำรถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาประกอบในประเทศ แต่ต้องผลิตตั้งแต่เริ่มต้นของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ ภาคเกษตรยุคใหม่อยู่ในวิสัยคนไทยทำได้ การพัฒนาบุคลากรรองรับความต้องการของตลาดในกลุ่มเป้าหมาย เนื่องจากเทคโนโลยีเป็นแต้มต่อสำหรับรายย่อย เอสเอ็มอี สตาร์ทอัพ จึงต้องเน้นพัฒนาสายอาชีวะ วิศวกรรม วิทยาศาสตร์ (STEM) ผ่านความร่วมมือภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา ผ่านการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ไทยแลนด์พลัส เพิ่มจากสิทธิ์ประโยชน์เดิมอีก 5 ปี นอกจากนี้ รัฐบาลยังเดินหน้ายกระดับโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งรถไฟทางคู่ ท่าเรือน้ำลึก พัฒนาสนามบินอู่ตะเภา รองรับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน หากต้องการพัฒนาประเทศ ต้องยอมหลุดจากกรอบเดิม การเดินหน้าพัฒนาประเทศเขตอีอีซี เพื่อร่วมกับประเทศเพื่อนบ้านให้เติบโตไปพร้อมกัน
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยระบุว่าโครงการประชารัฐสร้างไทยแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจฐานรากไม่ตรงจุด เนื่องจากเกษตรกรไม่ได้ต้องการเงินทุนเพื่อการผลิต เพราะไม่มีตลาดรองรับการผลิตว่า ยืนยันว่ามาตรการเศรษฐกิจฐานรากเป็นการสนับสนุนให้ประชาชนระดับล่างมีความเข้มแข็งและสามารถผลิตสินค้าเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โครงการประชารัฐสร้างไทยจึงเน้นทั้งการพัฒนาภาคการผลิต บริการ รวมถึงการสร้างตลาดเพื่อกระจายสินค้าเกษตร และการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพราะเป็นสิ่งสำคัญการช่วยเหลือเศรษฐกิจฐานราก
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า รัฐบาลตั้งเป้าหมายให้ไทยก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางภายใน 10 ปี จากปี 2561 รายได้ต่อประชากรของไทยอยู่ที่ 6,610 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี เทียบกับรายได้ขั้นต่ำของประเทศที่พัฒนาแล้วอยู่ที่ 12,235 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี ก่อนที่ไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยตั้งเป้าหมายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยขั้นต่ำ 6.4% ต่อปีต่อเนื่อง 10 ปีนับจากนี้
ทั้งนี้ เนื่องจากความชัดเจนโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และนโยบายส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติมที่จะทยอยออกมาช่วยให้ไทยสามารถช่วงชิงความได้เปรียบในการเป็นฐานผลิตในบางอุตสาหกรรม จากผลพวงของสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐที่ยืดเยื้อ ส่งผลให้เกิดกระแสการย้ายฐานลงทุนของบริษัทข้ามชาติเข้ามาในไทยมากขึ้น โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ประสานการดำเนินงานกับบีโอไอ เพื่อจัดทำร่างกรอบแนวทางการปรับปรุงสภาพแวดล้อมของการลงทุนเพื่อชักจูงและรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติมายังประเทศไทย ซึ่งจากการสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการ นักลงทุน ในการจัดอันดับความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจประจำปี 2562 พบว่าประเทศไทยยังมีจุดเด่นที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุน
อย่างไรก็ตาม ไทยเตรียมความพร้อมรองรับการลงทุนในอีอีซี การมีอุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตที่เข้มแข็งในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี เศรษฐกิจชีวภาพ ตั้งเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางของตลาดในภูมิภาค CLMVT (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม และไทย) รวมทั้งตลาดอาเซียน และเอเชีย.-สำนักข่าวไทย