กรุงเทพ 3 ก.ค. – รายงานฉบับใหม่ของธนาคารโลกที่มีการเผยแพร่ในวันที่ 3 ก.ค.68 ชี้ว่า การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลสามารถช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย รวมทั้งคาดการณ์จีดีพีไทยปี 2568 จะอยู่ที่เติบโต 1.8% และปี 2569 เติบโต 1.7%
ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี เป็นประธานเปิดงาน Thailand Economic Monitor:Digital Pathways to Growth ซึ่งเป็นรายงานฉบับใหม่ของธนาคารโลกซึ่งมีการเผยแพร่ในวันนี้ 3 กรกฎาคม 2568 โดยรายงานฉบับใหม่ ระบุว่า การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลสามารถช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย สร้างการจ้างงานและขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก
รายงานฉบับนี้ ยังคาดการณ์ด้วยว่า อัตราการเติบโตของจีดีพีไทย ปี 2568 คาดว่าจะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 1.8% และปี 2569 คาดว่าจะเติบโต 1.7% สะท้อนถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าโลกในช่วงที่ผ่านมา การส่งออกที่อ่อนแอ การบริโภคที่ชะลอตัวและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวในระดับปานกลางที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 2568 อยู่ที่ 37 ล้านคน อย่างไรก็ตามหากความเชื่อมั่นด้านการลงทุนปรับตัวดีขึ้น จีดีพีอาจจะเติบโตได้เป็น 2.2% ในปี 2568 และ 1.8% ในปี 2569
ดร.เกียรติพงศ์ อริยปัญญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของธนาคารโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจโลกจะเผชิญแรงกดดันหลายด้านแต่เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2568 ยังมีความแข็งแกร่งช่วยพยุงภาพรวมเศรษฐกิจไว้ชั่วคราว โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเร่งส่งออกล่วงหน้าท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าระหว่างประเทศ การรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค การปรับลงทุนของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและการขยายความร่วมมือในเชิงลึกจะช่วยทำให้ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากพลวัตของตลาดที่กำลังเปลี่ยนแปลงได้ รายงานนี้ยังชี้ว่า เทคโนโลยีดิจิทัลสามารถเป็นตัวเร่งการเติบโตและสร้างงาน ยกระดับคุณภาพการให้บริการและเพิ่มผลิตภาพของประเทศได้ในช่วงที่ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน


นางสาวเมลินดา กู้ด ผู้อำนวยการโลกประจำประเทศไทยและเมียนมา กล่าวว่า ประเทศไทยเตรียมพร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีของกลุ่มธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศในปี 2569 การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลจะเป็นประเด็นสำคัญของการหารือ การประชุมระดับโลกครั้งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญในการนำเสนอศักยภาพอุตสาหกรรมหลักต่างๆ อาทิ บริการดิจิทัล การผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ธุรกิจการเกษตรและการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนซึ่งล้วนมีส่วนกำหนดอนาคตประเทศไทย
ทั้งนี้ เศรษฐกิจดิจิทัลของไทย คาดว่า มีมูลค่าราว 6% ของจีดีพีและมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองในภูมิภาคอาเซียน อุตสาหกรรมบริการการเงิน การชำระเงินดิจิทัล ฟินเทค ซอฟแวร์และวิศวกรรมถือเป็นกลุ่มที่มีอัตราการจ้างงานเติบโตเร็วที่สุดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยอีคอมเมิร์ซมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี ตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด 19.- 513-สำนักข่าวไทย