เปรู 16 พ.ย.- นายกฯ ร่วมหารือกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค เน้นย้ำสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ช่วยเหลือผู้ประกอบการทุกระดับ พร้อมร่วมมือกัน รับมือการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน
เวลา 13.00 น. ของวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 ตามเวลาท้องถิ่นของกรุงลิมา ประเทศเปรู ซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 12 ชั่วโมง ณ ลิมา คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการหารือระหว่างผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคกับสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค ในช่วงอาหารกลางวัน (ABAC Dialogue with APEC Economic Leaders) พร้อมกล่าวถ้อยแถลงภายใต้หัวข้อ “ประชาชน ภาคธุรกิจ และความรุ่งเรือง”
นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมกับสมาชิกสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปคในครั้งนี้ เนื่องจากหัวข้อของการประชุมเหมาะสมและสอดคล้องกับหัวข้อการประชุมเอเปคที่มีแนวคิด “เสริมสร้างพลัง การมีส่วนร่วม และการเติบโตอย่างยั่งยืน” จึงขอชื่นชมและสนับสนุนความคิดริเริ่มของเปรูในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจในระบบและเศรษฐกิจโลก เพราะแรงงานมากกว่าครึ่งของเอเปคมาจากเศรษฐกิจนอกระบบ เรื่องนี้รวมถึงบทบาทของการใช้ดิจิทัลและนวัตกรรมจึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ เพื่อสร้างการเข้าถึงอย่างครอบคลุม โดยเฉพาะสตรี วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม รายย่อย (MSMEs) ผู้ประกอบการ และกลุ่มที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ
ส่วนในทางปฏิบัตินั้น การปรับตัวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็วมีความท้าทายมาก ทั้งในแง่ค่าใช้จ่ายและทักษะใหม่ ๆ ที่จำเป็น ด้วยเหตุนี้ การสนับสนุนผ่านโครงการเสริมสร้างศักยภาพ โอกาสในการเพิ่มทักษะ และการพัฒนาทักษะใหม่ ตลอดจนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างทั่วถึงจึงถือเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งรัฐบาลไทยกำลังดำเนินการอยู่ เพื่อให้แน่ใจว่ามีมาตรการทางการเงินที่เหมาะสม เช่นเดียวกับ การค้า การลงทุน และการบูรณาการทางเศรษฐกิจ ก็ยังคงมีความสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาค ขณะที่ นวัตกรรมทางการเงินและระบบการชำระเงินดิจิทัลนั้น จะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายนี้ เพราะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีโครงการสร้างระบบให้ประชาชนในกลุ่มอาเซียนให้สามารถชำระเงินผ่านรหัส QR ระหว่างกันได้สะดวก และจะช่วยให้การชำระเงินทำได้ง่าย เรียลไทม์ อำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมข้ามพรมแดนและส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นได้อย่างราบรื่น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เอเปคศึกษาโครงการชำระเงินดิจิทัลข้ามพรมแดนของเอเปคต่อไป เพื่อส่งเสริมระบบการเงินที่เสรี มีความรับผิดชอบ และแข่งขันได้
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังเชื่อมั่นถึงความยั่งยืน ว่าเป็นแนวทางการเปลี่ยนแปลงที่เน้นประชาชนและโลกเป็นศูนย์กลางเป็นสิ่งสำคัญ เพราะปีนี้โลกเผชิญกับสภาพอากาศสุดขั้วจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะภาคเหนือของไทยที่ได้รับผลกระทบจากฝนตกหนัก น้ำท่วม และดินถล่ม และหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เผชิญกับสถานการณ์เดียวกัน จึงเป็นช่วงเวลาที่จะต้องร่วมกันเดินหน้าสู่การเติบโตที่ยั่งยืนและยืดหยุ่น
นายกรัฐมนตรี รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่เปรูผลักดันประเด็นสำคัญ อาทิ พลังงานไฮโดรเจนสะอาดและคาร์บอนต่ำ รวมถึงการป้องกันและลดการสูญเสียและขยะอาหาร ซึ่งทั้งสองอย่างสอดคล้องกับเป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ของไทย ดังนั้นขอชื่นชม National Center for APEC (NCAPEC) สำหรับการจัด Sustainable Future Forum เป็นปีที่สองติดต่อกัน อันเป็นที่น่าขับเคลื่อนและน่าสนับสนุนถึงความพยายามเชิงนวัตกรรมและครอบคลุมจากภาคเอกชน องค์กร NGO และสถาบันการศึกษา เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยนายกรัฐมนตรีหวังว่าจะได้เห็นโครงการนี้ดำเนินต่อไป.-315 -สำนักข่าวไทย