กรุงเทพฯ 10 เม.ย.-รัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน ร่วมผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัล มุ่งเชื่อมโยงระบบชำระเงินในภูมิภาค
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน (ASEAN Finance Ministers and Central Bank Governors’ Meeting: AFMGM) ครั้งที่ 12 การประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (ASEAN Finance Ministers’ Meeting: AFMM) ครั้งที่ 29 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ภายใต้แนวคิดหลัก “ครอบคลุมและยั่งยืน” (Inclusivity and Sustainability) ทั้งนี้ มีรายละเอียดการประชุมฯ ดังนี้
1.การประชุม AFMM ครั้งที่ 29 ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าของความร่วมมือทางการเงินอาเซียนในประเด็นต่าง ๆ เช่น การระดมทุนเพื่อโครงสร้างพื้นฐาน ความร่วมมือด้านการประกันภัย การบริหารความเสี่ยงและการประกันภัยเพื่อรองรับความเสี่ยงจากภัยพิบัติของอาเซียน (ASEAN Disaster Risk Financing and Insurance: ADRFI) ความร่วมมือด้านภาษี ระบบเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว ของอาเซียน (ASEAN Single Window: ASW) ความคืบหน้าการกำกับดูแลตลาดทุนอาเซียน (ASEAN Capital Markets Forum: ACMF) เป็นต้น
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การเงินและการประกันภัยเพื่อรองรับภัยพิบัติเป็นกลไกที่สำคัญในการวางแผนรับมือความเสี่ยงในอาเซียน โดยเห็นว่า การประกันภัยต่อ (Reinsurance) เป็นเครื่องมือทางการเงินที่ไม่เพียงปกป้องงบประมาณของรัฐ แต่ยังช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้กับชุมชนก่อนเกิดภัยพิบัติ ไทยพร้อมร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อรับมือภัยพิบัติในอนาคต
2.การประชุม AFMGM ครั้งที่ 12 ได้เห็นชอบประเด็นที่มาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน ต้องการผลักดันในปี 2568 (ASEAN Chair’s Priority Economic Deliverables for 2025: PEDs) ซึ่งประกอบด้วยยุทธศาสตร์ 4 ด้าน ได้แก่ (1) การส่งเสริมการค้าและการลงทุน (2) การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมที่ครอบคลุมและความยั่งยืน (3) การเสริมสร้างการบูรณาการและการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ และ (4) การเป็นประชาคมอาเซียนที่มีความสามารถในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลนี้
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เน้นย้ำความสำคัญของบทบาทของเทคโนโลยีในการดำเนินงานภายใต้ RIA-Fin เช่น ระบบชำระเงินทันที (Instant Payment) การเปิดบัญชีแบบดิจิทัล การบริการทางการเงินเสมือนจริง (Virtual Banking) เป็นต้น โดยเห็นว่า การเชื่อมโยงทางการเงินจะเกิดขึ้นได้จริงเมื่อมีกลไก โครงสร้างพื้นฐาน และระบบนิเวศทางการเงินแบบใหม่ที่รองรับบริการข้ามพรมแดน โดยเล็งเห็นว่าวิสัยทัศน์ของการจัดตั้งให้ไทยเป็นศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (Thailand Financial Hub Initiative: FinHub) จะส่งเสริมการดำเนินงานของกรอบความร่วมมือการเงินการคลังอาเซียน (ASEAN Finance Track)
3.การประชุมระหว่าง AFMGM กับสภาธุรกิจต่าง ๆ นอกจากการประชุม AFMM ครั้งที่ 29 และ AFMGM ครั้งที่ 12 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล) ได้เข้าร่วมการประชุมระหว่าง AFMGM กับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN Business Advisory Council: ABAC) สภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน (European Union-ASEAN Business Council: EUABC) และสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (United States-ASEAN Business Council: USABC) เพื่อร่วมกันเปลี่ยนผ่านไปยังเศรษฐกิจดิจิทัล การชำระเงินผ่านระบบดิจิทัล การระดมทุนเพื่อข้อริเริ่มด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเสริมสร้างความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทาน เป็นต้น
การประชุมฯ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมความร่วมมือด้านการเงินการคลังในอาเซียนที่จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนและการเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานที่แข็งแกร่ง รวมถึงระบบการเงินที่เชื่อมโยงและเปิดกว้าง โดยประเทศไทยมีความพร้อมที่จะพัฒนาความเชื่อมโยงด้านการเงินการคลังกับประเทศสมาชิกอาเซียน เช่น การชำระเงินข้ามพรมแดน การจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมและกำกับการประกอบธุรกิจทางการเงิน (Office for the Supervision and Promotion of Financial Hub Enterprises: OSA) เพื่อเป็นหน่วยงานกำกับดูแลแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ เป็นต้น
สำหรับการประชุม AFMM และ AFMGM ครั้งถัดไป มีกำหนดจัดขึ้นในปี 2569 โดยมีสาธารณรัฐฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม.-515.-สำนักข่าวไทย