กลาโหม 23 ม.ค.-ก.กลาโหม ย้ำความร่วมมือเมียนมา ปราบอาชญากรรมข้ามพรมแดน เร่งสร้างความมั่นคงในภูมิภาค พร้อมยืนยันไม่มีนโยบายเพิกเฉยต่อการกระทำผิดกฎหมาย
พล.ต.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า จากกรณีที่สื่อทางการของเมียนมา (21 ม.ค.68) ได้เผยแพร่บทความที่กล่าวถึงปัญหาอาชญากรรมออนไลน์บริเวณชายแดน และมีการพาดพิงถึงประเทศเพื่อนบ้านในเชิงที่อาจสื่อถึงประเทศไทย กระทรวงกลาโหมขอชี้แจงว่า ประเทศไทย ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามพรมแดน โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนที่มีความอ่อนไหว
ทั้งนี้ กระทรวงกลาโหมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงเมียนมา ในการสกัดกั้นเครือข่ายอาชญากรรมและการกระทำผิดกฎหมายมาโดยตลอด และจากการหารือระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพบกและกองทัพเมียนมา เมื่อวันที่ 21 ม.ค.ที่ผ่านมา เป็นการย้ำถึงความร่วมมืออย่างใกล้ชิด เพื่อแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของทั้งสองประเทศ อาทิ การพนันผิดกฎหมาย การหลอกลวงออนไลน์ การค้ามนุษย์ และการประมงผิดกฎหมาย
กระทรวงกลาโหมขอยืนยันว่า ประเทศไทยไม่มีนโยบายสนับสนุนหรือเพิกเฉยต่อการกระทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเกิดจากบุคคลใดหรือองค์กรใด หากพบว่ามีความเกี่ยวข้องของผู้กระทำผิดที่มีต้นทางมาจากประเทศไทย รัฐบาลไทยพร้อมที่จะดำเนินการสอบสวนและประสานงานกับเมียนมาเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดและจริงจัง
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังพร้อมที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงกับเมียนมา และประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ เพื่อยกระดับการแก้ไขปัญหาในระดับภูมิภาค รวมถึงการพัฒนาแนวทางปฏิบัติร่วมกันที่ยั่งยืน กระทรวงกลาโหมขอเน้นย้ำถึงความตั้งใจในการทำงานร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและมั่นคง สำหรับประชาชนในภูมิภาค และพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะใด ๆ ที่จะช่วยให้ความร่วมมือนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับที่ผ่านมาหน่วยงานในพื้นที่ได้ใช้กลไกการหารือ และการบูรณาการเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน โดยเฉพาะการประสานงานกับเมียนมาและกองกำลังชนกลุ่มน้อย ซึ่งประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องมีหลากหลายมิติ เช่น การลักลอบผ่านเข้า-ออกชายแดนโดยไม่ได้รับอนุญาต การขนส่งสิ่งของผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์ รวมถึงความขัดแย้งระหว่างกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่อาจส่งผลต่อความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน โดยเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางเข้า-ออกระหว่างสองประเทศ ที่ไม่เป็นไปตามขั้นตอนและกระบวนการทางกฎหมาย
โดยหน่วยงานในพื้นที่จะได้ร่วมมือกันพัฒนาแนวทางการจัดการที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพ โดยในกรณีที่เกิดปัญหาหรือเหตุการณ์ที่ซับซ้อน ทั้งสองประเทศสามารถทำงานร่วมกันเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการขยายตัวของปัญหา และหลีกเลี่ยงการสร้างผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในวงกว้าง ทั้งในด้านความมั่นคงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ชายแดน.-313.-สำนักข่าวไทย