กรุงเทพฯ 23 ม.ค. – กกพ. ยันการถอนตัวจากความตกลงปารีส-นโยบายเร่งผลิตพลังงานฟอสซิล ของนายโดนัล ทรัมป์ ไม่กระทบความต้องการใช้ไฟฟ้าสีเขียวในไทย ขณะเดียวกันไทยกลับได้อานิสงส์จากราคาพลังงานในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลง
ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวถึงการที่นายโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศถอนตัวจาก ความตกลงปารีส หรือ Paris Agreement ความตกลงตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change-UNFCCC) ว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้พลังงานสีเขียวในประเทศไทย เนื่องจากโมเมนตัมของการพัฒนาพลังงานสะอาด เป็นสิ่งที่ทั่วโลกเห็นถึงความจำเป็นของการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ซึ่งรัฐ เอกชนทั่วโลกขานรับ ซึ่งได้เห็นการปรากาศเรื่อง ESG การประกาศเป้าความเป็นกลางทางคาร์บอน จะเห็นว่าโมเมนตัมไม่ได้อยู่ที่ นโยบายทรัมป์ 2.0 แต่ทั้งนี้ก็ต้อง wait & see นโยบายที่จะแถลงออกมาเพิ่มเติม ขณะเดียวกันนโยบายเร่งการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้นก็ถือว่าเป็นอานิสงค์ดีต่อประเทศไทย ที่เป็นผู้นำเข้าพลังงาน ซึ่งในอนาคตเราอาจจะได้เห็นการเร่งการขุดเจาะน้ำมัน ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ ที่จะส่งผลให้ซัพพลายในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ต้นทุนราคาพลังงานที่เรานำเข้ามาก็อาจจะถูกลง ขณะเดียวกันปรเทศไทยไม่ได้หยุดยั้งการพัฒนาพลังงานสะอาด เพราะเราเป็นสมาชิกสมาคมโลก ก็ยังต้องตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาพลังงานสะอาด และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
ส่วนความคืบหน้าการเสนอให้ภาคนโยบาย ลดค่าไฟฟ้า 17 สตางค์ ด้วยการทบทวนและปรับปรุงเงื่อนไขการสนับสนุนทั้งในรูปแบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) และ Feed-in Tariff (FiT) ผ่านการอุดหนุนราคารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ซึ่งจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเหลือ 3.98 บาทต่อหน่วยนั้น บอร์ด กกพ.อยู่ระหว่างการทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และสำนักงาน กกพฯ ก็อยู่ระหว่างทำหนังสือถึงเลขา กพช. มั่นใจยื่นได้ภายในเดือนมกราคมนี้ ส่วนจะมีการพิจารณาทบทวนตามที่เสนอหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับภาคนโยบาย ส่วนจะทันค่าไฟงวดหน้า (พ.ค-ส.ค.) หรือไม่นั้นยังไม่สามารถให้คำตอบได้
ส่วน Direct PPA ก็มีการพูดคุยกันในหลายมิติ ทั้งในเชิงเทคนิค รวมถึงต้นทุนของผู้ที่จะเข้ามาสู่ระบบ และต้นทุนของผู้ที่ยังอยู่ในระบบ ซึ่งต้องคำนึงถึงความเหมาะสม และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นรวมถึงวิธีการที่จะสร้างความมั่นใจว่ากระแสไฟฟ้าที่จะเข้ามาสู่ระบบจะไม่ได้รับผลกระทบ รวมถึงอัตราที่มีความเหมาะสม ซึ่งมติกพช.ออกมามาว่าออกแบบ Direct PPA และ UGT จะต้องสอดคล้องกัน ซึ่ง กกพ. และทั้ง 3 การไฟฟ้าจะต้องร่วมกันออกแบบ อย่างไรก็ดีมั่นใจว่า จะได้เห็น Direct PPA ภายในปีนี้แน่นอน ส่วนราคายังไท่สามารถบอกได้. -517-สำนักข่าวไทย