กรุงเทพฯ 1 ส.ค.- กรมชลประทานเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำทั่วประเทศตามประกาศของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติที่แจ้งว่า จะมีฝนตกหนักระหว่างวันที่ 2-10 สิงหาคม โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงน้ำหลากและน้ำท่วมทุกภาค ตลอดจนเฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มสูงฉับพลันใน 12 แม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ติดตามใกล้ชิดเขื่อนขนาดใหญ่ 6 เขื่อนที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำ พร้อมบูรณาการช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า สั่งการให้โครงการชลประทานทั่วประเทศเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดตามประกาศของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ที่แจ้งการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาว่า ในช่วงวันที่ 2 – 10 สิงหาคม 2565 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับมีร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณประเทศเมียนมา ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนของประเทศไทย และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและอ่าวตังเกี๋ย ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
ทั้งนี้ฝนตกสะสมต่อเนื่องอาจส่งผลให้เกิดน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่เสี่ยง ดังนี้
- ภาคเหนือ 8 จังหวัดได้แก่ จังหวัดตาก (อำเภออุ้มผาง) จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อำเภอปาย) จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภอเชียงดาว และแม่อาย) จังหวัดเชียงราย (อำเภอเมืองเชียงราย แม่จัน และแม่ลาว) จังหวัดน่าน (อำเภอบ่อเกลือ ปัว และสันติสุข) จังหวัดอุตรดิตถ์ (อำเภอท่าปลา และทองแสนขัน) จังหวัดพิษณุโลก (อำเภอนครไทย วัดโบสถ์ เนินมะปราง และชาติตระการ) จังหวัดเพชรบูรณ์ (อำเภอวังโป่ง หล่มสัก และหล่มเก่า)
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัดได้แก่ จังหวัดเลย (อำเภอเชียงคาน และนาด้วง) จังหวัดหนองคาย (อำเภอโพนพิสัย และรัตนวาปี) จังหวัดสกลนคร (อำเภอบ้านม่วง) จังหวัดบึงกาฬ (อำเภอเมืองบึงกาฬ บุ่งคล้า โซ่พิสัย และเซกา) จังหวัดมุกดาหาร (อำเภอดงหลวง) จังหวัดนครพนม (อำเภอท่าอุเทน เมืองนครพนม และธาตุพนม) จังหวัดชัยภูมิ (อำเภอบ้านเขว้า และหนองบัวแดง) จังหวัดขอนแก่น (อำเภอเมืองขอนแก่น) จังหวัดร้อยเอ็ด (อำเภอสุวรรณภูมิ) จังหวัดยโสธร (อำเภอมหาชนะชัย และคำเขื่อนแก้ว) จังหวัดนครราชสีมา (อำเภอจักราช พิมาย และลำทะเมนชัย) จังหวัดอุบลราชธานี (อำเภอม่วงสามสิบ ตระการพืชผล ดอนมดแดง เขื่องใน เมืองอุบลราชธานี และวารินชำราบ)
- ภาคตะวันออก 5 จังหวัดได้แก่ จังหวัดนครนายก (อำเภอเมืองนครนายก และปากพลี) จังหวัดปราจีนบุรี (อำเภอนาดี ประจันตคาม และกบินทร์บุรี) จังหวัดระยอง (อำเภอแกลง และเมืองระยอง) จังหวัดจันทบุรี (อำเภอเขาคิชฌกูฏ ท่าใหม่ แหลมสิงห์ เมืองจันทบุรี ขลุง และมะขาม) และจังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด คลองใหญ่ แหลมงอบ เกาะกูด เกาะช้าง และเขาสมิง)
- ภาคกลาง 2 จังหวัดได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี (อำเภอสังขละบุรี และทองผาภูมิ) จังหวัดลพบุรี (อำเภอชัยบาดาล) รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
- ภาคใต้ 8 จังหวัดได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (อำเภอบางสะพาน และทับสะแก) จังหวัดชุมพร (อำเภอปะทิว) จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อำเภอบ้านตาขุน และไชยา) จังหวัดนครศรีธรรมราช (อำเภอพรหมคีรี) จังหวัดระนอง (อำเภอกะเปอร์) จังหวัดพังงา (อำเภอตะกั่วทุ่ง) จังหวัดตรัง (อำเภอย่านตาขาว) จังหวัดพัทลุง (อำเภอกงหรา)
นอกจากนี้ยังต้องเฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันบริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ของแม่น้ำกก แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำเลย แม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำตราด
ส่วนอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวังเนื่องจากมีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 6 แห่งได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำกิ่วลม และกิ่วคอหมา จังหวัดลำปาง อ่างเก็บน้ำน้ำพุง จังหวัดสกลนคร อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น และอ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี รวมทั้งติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั่วประเทศที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นซึ่งเสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ
อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ย้ำให้โครงการชลประทานติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตรในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ สถานีสูบน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมทั้งวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำ และระดับน้ำในลำน้ำ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วม ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที ตลอดจนประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำและแจ้งเตือนล่วงหน้าให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ รวมถึงเตรียมพร้อมช่วยเหลือประชาชนอย่างทันท่วงที.-สำนักข่าวไทย