โตเกียว 16 พ.ค.- ราคาขายส่งของญี่ปุ่นเดือนเมษายนปีนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 จากเดือนเมษายนปีก่อน เพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มเก็บข้อมูลในปี 2524 เนื่องจากราคาพลังงานและวัตถุดิบปรับสูงขึ้นหลังเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ประกอบกับเงินเยนอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว
ธนาคารกลางญี่ปุ่นหรือบีโอเจ (BOJ) เปิดเผยข้อมูลวันนี้ว่า ราคาขายส่งซึ่งเป็นราคาซื้อขายสินค้าระหว่างบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 14 ติดต่อกัน ตอกย้ำทัศนะที่ว่าเงินเฟ้อผู้บริโภคจะปรับเพิ่มขึ้นอีกในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าบีโอเจคาดว่า เงินเฟ้อเพราะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นน่าจะทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานแตะร้อยละ 2 ที่เป็นเป้าหมายของบีโอเจ แต่เขาจะไม่ใช้นโยบายเข้มงวดทางการเงินตามแบบธนาคารกลางสหรัฐและยุโรป
เว็บไซต์สำนักข่าวเกียวโดนิวส์รายงานว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนจุดกระแสวิตกเรื่องอุปทานสินค้า ทำให้ราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันและถ่านหินปรับขึ้นร้อยละ 30.9 ราคาวัตถุดิบซึ่งรวมทั้งเหล็กและแผ่นเหล็กปรับขึ้นร้อยละ 29.9 ราคาผลิตภัณฑ์ไม้และไม้แปรรูปปรับขึ้นถึงร้อยละ 56.4 ราคาโลหะที่ไม่ใช่เหล็กปรับขึ้นร้อยละ 25.0 นอกจากนี้ยังทำให้ราคาอาหารและเครื่องดื่มปรับขึ้นร้อยละ 3.7 ด้านนักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันวิจัยไดอิจิไลฟ์ชี้ว่า อีกปัจจัยที่ทำให้ราคาขายส่งปรับขึ้นไปมากคือ เงินเยนที่อ่อนค่าลงอย่างมากตั้งแต่เดือนมีนาคมได้ส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจมากกว่าเชิงบวก.-สำนักข่าวไทย