fbpx

เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวครั้งแรกในปีนี้

โตเกียว 15 พ.ย.- เศรษฐกิจญี่ปุ่นไตรมาส 3 ของปีนี้หดตัวเป็นครั้งแรกของปี อันเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกเสี่ยงถดถอย เงินเยนอ่อนค่า และสินค้านำเข้ามีราคาสูงขึ้นกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภคและกิจกรรมของภาคธุรกิจ ข้อมูลทางการญี่ปุ่นระบุว่า ไตรมาสเดือนกรกฎาคม-กันยายนปีนี้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือจีดีพี (GDP) ลดลงร้อยละ 1.2 ต่อปี และลดลงร้อยละ 0.3 ต่อไตรมาส สวนทางกับที่นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 1.1 ต่อปี และขยายตัวร้อยละ 0.3 ต่อไตรมาส เศรษฐกิจญี่ปุ่นไตรมาส 3 หดตัวเป็นครั้งแรกของปีนี้ หลังจากขยายตัวมา 3 ไตรมาสติดต่อกัน นอกเหนือจากแรงกดดันเรื่องเศรษฐกิจโลกชะลอการเติบโตและเรื่องภาวะเงินเฟ้อสูงแล้ว ญี่ปุ่นยังเผชิญความท้าทายจากเงินเยนที่อ่อนค่าที่สุดในรอบ 32 ปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้นเพราะสินค้านำเข้าทุกอย่างตั้งแต่เชื้อเพลิงไปจนถึงอาหารมีราคาแพงขึ้น เดือนที่แล้วนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 260,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9.3 ล้านล้านบาท).-สำนักข่าวไทย

ญี่ปุ่นเตือนอีกเรื่องจะดำเนินมาตรการจำเป็นในตลาดเงิน

โตเกียว 24 ต.ค.- นายจุนอิจิ ซูซูกิ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นยังคงเตือนในวันนี้ว่า จะดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อรับมือกับความผันผวนมากเกินไปในตลาดปริวรรตเงินตรา ขณะที่ตลาดคาดการณ์ว่า ทางการญี่ปุ่นจะเข้าแทรกแซงอีกครั้ง หลังจากเยนอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ นายซูซูกิกล่าวกับสื่อว่า กำลังจับตาการเคลื่อนไหวในตลาดเงินตราด้วยความรู้สึกเร่งด่วนอย่างยิ่ง เพราะไม่สามารถปล่อยให้มีความผันผวนมากเกินไปอันเกิดจากการเก็งกำไร และพร้อมจะดำเนินมาตรการจำเป็นเมื่อถึงเวลาที่จำเป็น ทางการกำลังจัดการกับการเก็งกำไรอย่างเข้มงวด ด้านนายมาซาโตะ คันดะ รัฐมนตรีช่วยคลังด้านกิจการระหว่างประเทศ ในฐานะผู้บริหารสูงสุดด้านปริวรรตเงินตรากล่าวว่า ทางการพร้อมรับมืออย่างเหมาะสมตลอดเวลากับความผันผวนมากเกินไป อย่างไรก็ดี ทางการญี่ปุ่นไม่ยืนยันว่า ได้ใช้มาตรการแทรกแซงด้วยการขายดอลลาร์สหรัฐเพื่อซื้อเยนครั้งใหม่หรือไม่ เว็บไซต์เกียวโดนิวส์รายงานว่า หลังการให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีคลัง ดอลลาร์สหรัฐที่ซื้อขายสูงกว่า 149 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐในเช้าวันนี้ ได้ปรับลงมาเคลื่อนไหวที่ 145 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ก่อนกลับไปเคลื่อนไหวที่ระดับเดิมอีกครั้ง อย่างไรก็ดี เยนยังคงถือว่าอ่อนค่ามากเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลาง 2 ประเทศมีช่วงห่างกันมาก ทางการญี่ปุ่นได้เข้าแทรกแซงตลาดเมื่อวันศุกร์ในช่วงที่กำลังมีการซื้อขายในตลาดนิวยอร์กของสหรัฐ หลังจากเยนอ่อนค่าลงใกล้แตะ 152 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็นการแทรกแซงครั้งที่ 2 หลังจากแทรกแซงครั้งแรกมากถึง 2.84 ล้านล้านเยน (ราว 725,430 ล้านบาท) เมื่อวันที่ 22 กันยายน ธนาคารกลางญี่ปุ่นหรือบีโอเจ (BOJ) จะประชุมนโยบายในวันที่ […]

ญี่ปุ่นขาดดุลการค้าครึ่งปีแรกมากเป็นประวัติการณ์

โตเกียว 20 ต.ค.- ญี่ปุ่นขาดดุลการค้าช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2565 มากเป็นประวัติการณ์ถึง 11.01 ล้านล้านเยน (ราว 2.82 ล้านล้านบาท) เนื่องจากยอดนำเข้าสูงขึ้นจากราคาเชื้อเพลิงและวัตถุดิบแพงขึ้น ประกอบกับเยนอ่อนค่าที่สุดในรอบหลายทศวรรษเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ข้อมูลเบื้องต้นของกระทรวงคลังญี่ปุ่นระบุว่า ช่วง 6 เดือนแรกนับจากเดือนเมษายนซึ่งเป็นเดือนเริ่มต้นปีงบประมาณจนถึงเดือนกันยายนปีนี้ ยอดนำเข้าของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.5 เป็น 60.58 ล้านล้านเยน (ราว 15.51 ล้านล้านบาท) แซงหน้ายอดส่งออกที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.6 เป็น 49.58 ล้านล้านเยน (ราว 12.69 ล้านล้านบาท) ทำให้ยอดขาดดุลการค้าลบสถิติเดิม 8.76 ล้านล้านเยน (ราว 2.24 ล้านล้านบาท) เมื่อช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนมีนาคมของปีงบประมาณ 2556 สินค้านำเข้าส่วนใหญ่ของญี่ปุ่นคือ น้ำมันดิบ แก๊สธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจี (LNG) และถ่านหิน ส่วนสินค้าส่งออกหลักคือ ยานยนต์และเซมิคอนดักเตอร์ ญี่ปุ่นขาดดุลการค้าตลอด 14 เดือนที่ผ่านมา สาเหตุหลักเป็นผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ทำให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นมาก นอกจากนี้การที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย มีส่วนทำให้เยนอ่อนค่า จึงทำให้ยอดนำเข้ามีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น.-สำนักข่าวไทย

ญี่ปุ่นพร้อมใช้มาตรการ “ที่เหมาะสม” กับตลาดแลกเปลี่ยน

โตเกียว 18 ต.ค.- นายชุนอิจิ ซูซูกิ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นเผยว่า ญี่ปุ่นพร้อมดำเนินมาตรการ “ที่เหมาะสม” เพื่อสกัดความผันผวนในตลาดปริวรรตเงินตรา หลังจากเงินเยนทำสถิติอ่อนค่าที่สุดในรอบ 32 ปีครั้งใหม่ที่ 149 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ นายซูซูกิกล่าวกับสื่อในวันนี้ว่า ญี่ปุ่นกำลังติดตามสถานการณ์ในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราด้วยความรู้สึกเร่งด่วนอย่างยิ่ง โดยจะไม่เปลี่ยนแปลงจุดยืนเรื่องจะดำเนินมาตรการรับมือที่เหมาะสม และมองว่าความผันผวนมากเกินไปที่เกิดจากการเก็งกำไรเป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้ อย่างไรก็ดี เขาไม่ยืนยันว่าทางการได้เข้าไปแทรกแซงในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราอย่างเงียบ ๆ ในช่วงหลายวันมานี้หรือไม่ โดยกล่าวเพียงว่า บางครั้งทางการก็แจ้งต่อสาธารณะว่าได้แทรกแซง แต่บางครั้งก็ไม่แจ้ง ญี่ปุ่นใช้เงิน 2.84 ล้านล้านเยน (ราว 726,920 ล้านบาท) เทขายดอลลาร์ไปซื้อเยนเมื่อเดือนกันยายน หวังสกัดไม่ให้เยนร่วงลงอย่างรวดเร็ว คาดว่าเกิดขึ้นภายในวันเดียวเมื่อวันที่ 22 กันยายน ถือเป็นการแทรกแซงครั้งแรกนับจากปี 2541 การกระทำดังกล่าวช่วยลดแรงกดดันให้ขายเยน แต่เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของญี่ปุ่นและสหรัฐมีความห่างกันมาก จึงทำให้เยนยังคงอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง และตลาดคาดว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะเข้าแทรกแซงอีกครั้ง.-สำนักข่าวไทย

รัฐมนตรีคลังว่าญี่ปุ่นพร้อมแก้ปัญหาค่าเงินเยนผันผวน

นายชุนอิจิ ซูซูกิ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่น กล่าวย้ำว่า รัฐบาลญี่ปุ่นมีความพร้อมที่จะ “ดำเนินการอย่างเหมาะสม” ในการแก้ปัญหาค่าเงินเยนที่ผันผวนมากเกินไป ในขณะที่ค่าเงินเยนร่วงลงไปอยู่ระดับต่ำที่สุดในรอบ 32 ปี จากผลกระทบของข้อมูลเงินเฟ้อของสหรัฐ

ญี่ปุ่นจะดำเนินมาตรการ “ที่เหมาะสม “ ถ้าเยนผันผวนหนัก

โตเกียว 11 ต.ค.- ญี่ปุ่นเผยว่า จะดำเนินมาตรการ “ที่เหมาะสม” หากเยนมีความผันผวนมากเกินไป หลังจากเยนเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงใกล้แตะระดับที่ทางการญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงเมื่อเดือนกันยายน นายชุนอิจิ ซูซุกิ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นเผยกับสื่อในวันนี้ว่า รัฐบาลกำลังจับตาความเคลื่อนไหวในตลาดปริวรรตเงินตราด้วยการใช้ความเฝ้าระวังอย่างสูง เขาเตรียมจะชี้แจงจุดยืนเรื่องการแทรกแซงค่าเงินของญี่ปุ่นต่อที่ประชุมรัฐมนตรีคลังกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 ประเทศหรือจี 20 (G20) ที่กรุงวอชิงตันของสหรัฐในวันที่ 12-13 ตุลาคมนี้ นายซูซุกิระบุว่า รัฐบาลไม่เปลี่ยนแปลงจุดยืนเรื่องการดำเนินมาตรการที่เหมาะสม หากตลาดปริวรรตเงินตรามีความผันผวนมากเกินไป พร้อมกับยืนยันว่า เยนไม่ใช่สกุลเงินใหญ่สกุลเดียวที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เว็บไซต์เกียวโดนิวส์รายงานว่า เยนเคลื่อนไหวเหนือ 145 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐในการซื้อขายวันนี้ หลังจากทะลุแนวต้านที่ 145 เยนเมื่อสัปดาห์ก่อน รัฐบาลญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงตลาดเมื่อวันที่ 22 กันยายนเพื่อหยุดยั้งสิ่งที่รัฐมนตรีคลังระบุว่า เป็นการอ่อนค่าเพียงฝั่งเดียวอย่างรวดเร็ว คาดว่าครั้งนั้นใช้เงินมากเป็นประวัติการณ์ถึง 2.84 ล้านล้านเยน (ราว 744,000 ล้านบาท) เพื่อซื้อเยนแล้วขายดอลลาร์สหรัฐภายใน 24 ชั่วโมง ส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงประมาณ 5 เยนหลังการแทรกแซง แต่หลังจากนั้นก็ดีดตัวกลับขึ้นมาแข็งค่าใหม่ เนื่องจากดอกเบี้ยของญี่ปุ่นและสหรัฐมีช่องว่างห่างกันมาก.-สำนักข่าวไทย

เยนแตะ 135 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐแล้ว

โตเกียว 13 มิ.ย.- เงินเยนญี่ปุ่นอ่อนค่าลงแตะ 135 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐในการซื้อขายที่ตลาดโตเกียวเช้าวันนี้ เป็นการอ่อนค่ามากที่สุดในรอบ 20 ปีครั้งใหม่ เพราะตลาดคาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของญี่ปุ่นและสหรัฐจะยิ่งห่างกันมากยิ่งขึ้น เว็บไซต์เกียวโดนิวส์รายงานว่า เงินเยนลงไปทดสอบระดับอ่อนค่าที่สุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2545 ในเช้าวันนี้ ก่อนขึ้นมาเคลื่อนไหวที่ 134.82-134.83 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงเที่ยง เทียบกับ 133.59-133.62 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐเมื่อเวลา 17:00 น. วันศุกร์ ตามเวลาญี่ปุ่น เนื่องจากตลาดคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด (Fed) จะเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกมาก หลังจากเผยแพร่ตัวเลขเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคมว่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 ต่อปี สูงกว่าที่ตลาดคาดหมายไว้ที่ร้อยละ 8.3 และสูงที่สุดในรอบ 40 ปี ขณะที่ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นหรือบีโอเจ (BOJ) ย้ำเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า จะคงนโยบายทำให้เงินเฟ้อแตะร้อยละ 2 ตามเป้าหมายอย่างยั่งยืน นักยุทธศาสตร์ด้านการปริวรรตเงินตราของบริษัทหลักทรัพย์ไดวาเผยว่า นักลงทุนอาจมองอัตราแลกเปลี่ยนว่าจะอ่อนค่าลงไปถึง 140 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ เพราะดูเหมือนว่าไม่มีสิ่งใดสามารถชะลอการอ่อนค่าของเงินเยนได้แล้วในขณะนี้ เงินเยนที่อ่อนค่าเป็นผลดีต่อผู้ส่งออกเมื่อแลกดอลลาร์สหรัฐกลับมาเป็นเยน แต่อาจชะลอการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศเพราะทำให้ราคาอาหารและน้ำมันนำเข้าแพงขึ้น.-สำนักข่าวไทย

ธุรกิจญี่ปุ่นฝากความหวังกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

โตเกียว 10 มิ.ย.- ธุรกิจของญี่ปุ่นฝากความหวังกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ เมื่อประเทศเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้งในวันนี้หลังจากปิดมานานกว่า 2 ปี เพราะโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ประธานสหพันธ์การท่องเที่ยวอาซากุสะ ซึ่งเป็นย่านท่องเที่ยวยอดนิยมในกรุงโตเกียวเผยว่า ธุรกิจรายเล็กทุกแห่งในย่านนี้กัดฟันผ่านพ้นช่วงโควิดระบาดและตั้งตารอเวลาที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาอีกครั้ง แม้จะไม่เนืองแน่นตามสองข้างทางที่เต็มไปด้วยร้านอาหารและร้านขายของที่ระลึกเหมือนช่วงก่อนโควิดก็ตาม ก่อนหน้านี้ย่านนี้มีโรงแรมผุดขึ้นมากมายเพราะคาดหวังว่า จะมีชาวต่างชาติหลั่งไหลเข้ามามากถึง 40 ล้านคนในช่วงที่กรุงโตเกียวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 แต่หลังจากการแข่งขันถูกเลื่อนออกไป 1 ปีเพราะโควิด และทางการห้ามนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศ โรงแรมหลายแห่งก็ต้องปิดตัวลง ญี่ปุ่นเคยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากเป็นประวัติการณ์ 31 ล้าน 8 แสน 8 หมื่นคนในปี 2562 ก่อนเกิดโควิด แต่หลังจากใช้มาตรการจำกัดการเดินทางทั้งในและต่างประเทศ ตัวเลขดังกล่าวลดลงต่ำเป็นประวัติการณ์ที่ 245,900 คนในปี 2564 นักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันวิจัยไดวาเผยว่า ช่วงก่อนเกิดโควิดนักท่องเที่ยวต่างชาติใช้จ่ายในญี่ปุ่นเฉลี่ยคนละ 150,000 เยน (ราว 38,780 บาท) มีผลอย่างมากต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น คาดว่าเงินเยนที่อ่อนค่าแตะ 134 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงหลายวันมานี้จะกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวต่างชาติใช้จ่ายมากขึ้น ญี่ปุ่นเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่วันนี้ จำกัดจำนวนสูงสุดวันละ 20,000 คน โดยรับเฉพาะกรุ๊ปทัวร์จาก 98 […]

เยนร่วงอ่อนค่าต่ำสุดในรอบ 20 ปีครั้งใหม่

โตเกียว 7 มิ.ย.- เงินเยนของญี่ปุ่นอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยลงไปทดสอบระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปีครั้งใหม่ที่ 132.70 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ เพราะตลาดคาดว่าช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยนโยบายของญี่ปุ่นและสหรัฐจะห่างกันมากยิ่งขึ้นไปอีก เงินเยนญี่ปุ่นซื้อขายที่ตลาดโตเกียวเช้าวันนี้อ่อนค่ามากที่สุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2545 เพราะตลาดคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด (Fed) จะเดินหน้าเข้มงวดนโยบายการเงินอย่างแข็งกร้าวต่อไป สวนทางกับธนาคารกลางญี่ปุ่นหรือบีโอเจ (BOJ) ที่นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการฯ กล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า จะยึดนโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไป เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อถึงร้อยละ 2 ตามเป้าหมายอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังย้ำเรื่องนี้ระหว่างการแถลงต่อรัฐสภาในเช้าวันนี้ด้วย เว็บไซต์เกียวโดนิวส์รายงานว่า เงินเยนซื้อขายที่ 132.59-132.60 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐช่วงเที่ยงวันนี้ในตลาดโตเกียว อ่อนค่าลงจาก 130.76-130.78 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐเมื่อเวลา 17:00 น.ของวันจันทร์ตามเวลาญี่ปุ่น นายชูนิจิ ซูซึกิ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นกล่าวกับสื่อในวันนี้ว่า กำลังติดตามสถานการณ์ในตลาดปริวรรตเงินตราอย่างใกล้ชิด และผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น เกียวโดนิวส์ระบุว่า เงินเยนที่อ่อนค่าได้ทำให้ราคาสินค้านำเข้าแพงขึ้น ทั้งราคาน้ำมันและสินค้าต่าง ๆ.-605

ราคาขายส่งญี่ปุ่นเดือน เม.ย.เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์

โตเกียว 16 พ.ค.- ราคาขายส่งของญี่ปุ่นเดือนเมษายนปีนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 จากเดือนเมษายนปีก่อน เพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่เริ่มเก็บข้อมูลในปี 2524 เนื่องจากราคาพลังงานและวัตถุดิบปรับสูงขึ้นหลังเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ประกอบกับเงินเยนอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว ธนาคารกลางญี่ปุ่นหรือบีโอเจ (BOJ) เปิดเผยข้อมูลวันนี้ว่า ราคาขายส่งซึ่งเป็นราคาซื้อขายสินค้าระหว่างบริษัทเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 14 ติดต่อกัน ตอกย้ำทัศนะที่ว่าเงินเฟ้อผู้บริโภคจะปรับเพิ่มขึ้นอีกในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าบีโอเจคาดว่า เงินเฟ้อเพราะราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นน่าจะทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานแตะร้อยละ 2 ที่เป็นเป้าหมายของบีโอเจ แต่เขาจะไม่ใช้นโยบายเข้มงวดทางการเงินตามแบบธนาคารกลางสหรัฐและยุโรป เว็บไซต์สำนักข่าวเกียวโดนิวส์รายงานว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนจุดกระแสวิตกเรื่องอุปทานสินค้า ทำให้ราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันและถ่านหินปรับขึ้นร้อยละ 30.9 ราคาวัตถุดิบซึ่งรวมทั้งเหล็กและแผ่นเหล็กปรับขึ้นร้อยละ 29.9 ราคาผลิตภัณฑ์ไม้และไม้แปรรูปปรับขึ้นถึงร้อยละ 56.4 ราคาโลหะที่ไม่ใช่เหล็กปรับขึ้นร้อยละ 25.0 นอกจากนี้ยังทำให้ราคาอาหารและเครื่องดื่มปรับขึ้นร้อยละ 3.7 ด้านนักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันวิจัยไดอิจิไลฟ์ชี้ว่า อีกปัจจัยที่ทำให้ราคาขายส่งปรับขึ้นไปมากคือ เงินเยนที่อ่อนค่าลงอย่างมากตั้งแต่เดือนมีนาคมได้ส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจมากกว่าเชิงบวก.-สำนักข่าวไทย

บริษัทญี่ปุ่นเกือบครึ่งเตรียมขึ้นราคาภายใน 1 ปี

โตเกียว 1 พ.ค.- ผลสำรวจพบว่า บริษัทญี่ปุ่นมากกว่าร้อยละ 40 เตรียมขึ้นราคาสินค้าหรือบริการภายใน 1 ปี เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบแพงขึ้นจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 และสงครามยูเครน บริษัทเทอิโกกุ ดาตาแบงก์สอบถามบริษัทในญี่ปุ่น 1,885 แห่งช่วงต้นเดือนเมษายนพบว่า ร้อยละ 43.2 ได้ขึ้นราคาในเดือนเมษายนหรือเตรียมขึ้นราคาภายในสิ้นเดือนมีนาคมปีหน้า แต่หากรวมบริษัทที่ขึ้นราคาไปแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคมปีก่อนถึงเดือนมีนาคมปีนี้ ตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มเป็นร้อยละ 64.7 ของบริษัทที่สำรวจทั้งหมด ขณะที่ร้อยละ 16.4 เผยว่า ไม่สามารถผลักภาระต้นทุนที่สูงขึ้นไปให้ลูกค้าแม้ว่าต้องการทำก็ตาม และมีเพียงร้อยละ 7.4 ที่ยืนยันว่าจะไม่ขึ้นราคาภายใน 1 ปี ญี่ปุ่นเผชิญภาวะเงินฝืดมานาน แต่บริษัทต่าง ๆ ต้องขึ้นราคาสินค้าหรือบริการ เนื่องจากโรคโควิด-19 และสงครามยูเครนทำให้ทุกอย่างขึ้นราคาไปหมด อีกทั้งยังถูกซ้ำเติมจากเงินเยนอ่อนค่าลงมาก ทำให้สินค้านำเข้าราคาแพงขึ้น ผลสำรวจพบว่า ธุรกิจด้านอาหาร โลหะ สารเคมี พร้อมขึ้นราคา แต่ธุรกิจที่มีการแข่งขันด้านราคาสูงอย่างการขนส่ง การโรงแรม ยังลังเลใจอยู่ เพราะเกรงจะเสียลูกค้า.-สำนักข่าวไทย

IMF ชี้เยนอ่อนค่าเร็วอาจกระทบเศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัว

วอชิงตัน 25 เม.ย.- กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ (IMF) เตือนว่า เงินเยนญี่ปุ่นที่อ่อนค่าอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ อาจเป็นอุปสรรคต่อการที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะฟื้นตัวอย่างมั่นคงจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 นายรานิล ซัลกาโด หัวหน้าคณะทำงานด้านญี่ปุ่นของไอเอ็มเอฟให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเกียวโดนิวส์ของญี่ปุ่นเมื่อไม่นานมานี้ว่า เยนที่อ่อนค่าที่สุดในรอบ 20 ปีเมื่อสัปดาห์ที่แล้วสะท้อนภาพธนาคารกลางญี่ปุ่นหรือบีโอเจ (BOJ) ที่ยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย สวนทางกับธนาคารกลางเศรษฐกิจใหญ่อื่น ๆ ที่พากันดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด เขามองว่า บีโอเจควรคงนโยบายนี้ต่อไปจนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะบรรลุเป้าหมายที่ร้อยละ 2 เพราะอัตราเงินเฟ้อจะลดลงทันทีที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์นำเข้าเริ่มลดลง อัตราเงินฟ้อญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 จากปีก่อน เร็วที่สุดในช่วง 2 ปี แต่ยังคงห่างจากเป้าหมายอยู่มาก อย่างไรก็ดี เยนที่อ่อนค่าอย่างรวดเร็วอาจทำให้ความต้องการในประเทศลดลง และสินค้านำเข้ามีราคาแพงขึ้น เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เยนเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแล้วเกือบร้อยละ 15 ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม โดยหลุดแนวรับที่ 129 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐไปเมื่อวันพุธที่แล้ว ปกติแล้วเยนที่อ่อนค่าจะเป็นผลดีต่อการส่งออก เพราะจะทำให้ได้กำไรมากขึ้นเมื่อแลกเงินต่างประเทศกลับเป็นเงินเยน และทำให้สินค้าญี่ปุ่นมีราคาถูกเมื่อเทียบกับสินค้าประเทศอื่น แต่ขณะเดียวกันจะเป็นผลเสียต่อญี่ปุ่นที่ต้องนำเข้าพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ เพราะต้องจ่ายแพงขึ้น คาดว่าบีโอเจจะคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปในการประชุมวันพุธและวันพฤหัสบดีนี้.-สำนักข่าวไทย

1 2
...