ชัยนาท 28 ธ.ค. – กระทรวงเกษตรฯ สนับสนุนชาวนาลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่ปลูกข้าวนาปรังให้ทำนาแบบเปียกสลับแห้งซึ่งใช้น้ำน้อย แต่ได้ผลผลิตดี ทำให้น้ำแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักในฤดูแล้งนี้ มีเพียงพอใช้และสำรองไว้ถึงต้นฤดูฝน
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานเปิดเผยว่า ลุ่มเจ้าพระยาฤดูแล้งนี้มีน้ำมากกว่าปีที่แล้ว 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่อีกกว่า 4 เดือนจึงจะเข้าสู่ฤดูฝนใหม่ซึ่งแนวโน้มของปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาจะต่ำกว่าเกณฑ์เก็บกักในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถส่งน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานได้อย่างเต็มศักยภาพ
ทั้งนี้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายให้รณรงค์ทำนาแบบเปียกสลับแห้ง (แกล้งข้าว) ซึ่งเป็นรูปแบบการทำนาที่ใช้น้ำน้อย โดยมอบหมายกรมชลประทานสาธิตและเผยแพร่การทำนาแบบเปียกสลับแห้งภายใต้ “โครงการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าปวงประชาถวายพ่อของแผ่นดิน”
สำหรับการทำนาแบบเปียกสลับแห้งเป็นวิธีการบริหารจัดการน้ำในการทำนาให้เหมาะสมกับความต้องการของต้นข้าวในระยะต่างๆ ซึ่งสามารถลดปริมาณการใช้น้ำได้มากถึงร้อยละ 28 ของปริมาณน้ำที่ใช้ในการทำนาแบบทั่วไป ซึ่งใช้น้ำประมาณ 1,200 ลบ.ม.ต่อไร่ แต่ถ้าทำนาแบบแกล้งข้าวจะใช้น้ำเพียงประมาณ 860 ลบ.ม.ต่อไร่เท่านั้น ส่วนผลผลิตได้สูงกว่าไร่ละ 1,200 กิโลกรัมและข้าวมีคุณภาพดีขึ้น นอกจากนี้การให้น้ำในห้วงเวลาที่เหมาะสมยังช่วยลดต้นทุนการใช้ปุ๋ย สารเคมี และน้ำมันเชื้อเพลิง สามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวลง จากไร่ละประมาณ 5,600 บาทเหลือประมาณ 3,400 บาท
อธิบดีกรมชลประทานกล่าวต่อว่า กำชับให้โครงการชลประทานในพื้นที่ตอนบน รวมทั้งพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาเก็บกักน้ำไว้ในแหล่งน้ำธรรมชาติ และอ่างเก็บน้ำต่างๆ ไว้ให้ได้มากที่สุด พร้อมสำรวจแหล่งน้ำเพิ่มเติม เพื่อสำรองไว้ในกรณีฉุกเฉิน ที่สำคัญสร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำและการใช้น้ำอย่างประหยัดให้เกษตรกรและทุกภาคส่วนอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง พร้อมบริหารจัดการน้ำด้วยความประณีตตามแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 2564/65 อย่างเคร่งครัด เพื่อให้มีน้ำเพียงพอใช้ตลอดช่วงฤดูแล้งนี้และสำรองไว้ในช่วงต้นฤดูฝนด้วย.-สำนักข่าวไทย