กรุงเทพฯ 9 พ.ย. – อธิบดีกรมชลประทานระบุ ปรับลดการระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาต่อเนื่อง โดยระบายต่ำกว่า 2,000 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาที่ล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่นอกคันกั้นน้ำในจังหวัดชัยนาท อ่างทอง และสิงห์บุรี ลดลง จนระดับน้ำเริ่มต่ำกว่าตลิ่งตั้งแต่วันนี้
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ระดับน้ำเหนือลดลงต่อเนื่อง โดยน้ำที่ไหลผ่านอ. เมือง จ. นครสวรรค์อยู่ที่อัตรา 1,997 ลบ.ม./วินาที ลดลงจากเมื่อวานนี้ซึ่งอยู่ที่ 2,085 ลบ.ม./วินาที เป็นผลให้น้ำที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา จ. ชัยนาทลดลงจากเมื่อวานนี้ ซึ่งอยู่ที่ 2,036 ลบ.ม./วินาที เหลือ 1,941 ลบ.ม./วินาที
ทั้งนี้เมื่อระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาต่ำกว่า 2,000 ลบ.ม./วินาทีจะทำให้ระดับน้ำที่ท่วมพื้นที่นอกคันกั้นน้ำตั้งแต่อ. สรรพยา จ. ชัยนาท ต่อเนื่องถึงอ่างทองและสิงห์บุรีเริ่มลดลง โดยระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาจะต่ำกว่าตลิ่งตั้งแต่วันนี้ ส่วนที่จ. พระนครศรีอยุธยาซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำจะทยอยลดลงต่อไป แต่ขณะนี้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อเร่งสูบออกเพื่อให้กลับสู่ภาวะปกติเร็วที่สุด
นายประพิศกล่าวต่อว่า การระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาของกรมชลประทานนั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบให้น้ำในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเอ่อล้นตลิ่งแต่อย่างใด เพราะควบคุมการระบายให้ผ่านอ. บางไทร จ. พระนครศรีอยุธยา 2,489 ลบ.ม./วินาทีซึ่งเป็นอัตราที่น้อย โดยกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะได้รับผลกระทบต่อเมื่อน้ำไหลผ่านอ. บางไทรเกินกว่า 3,500 ลบ.ม./วินาที
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ณัฐ มาแจ้ง ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาเกษตรศาสตร์กล่าวว่า น้ำที่เอ่อล้นตลิ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลมาจากปัจจัยน้ำทะเลหนุน ไม่เกี่ยวข้องกับการระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นผลจาก การที่แม่น้ำเจ้าพระยาในลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างต้องรับน้ำที่ระบายจากน้ำที่ท่วมขังในจ. สุพรรณบุรีซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีน ดังที่นักวิชาการบางคนกล่าว เนื่องจากคลองที่เชื่อมจากแม่น้ำท่าจีนสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นคลองแนวขนานขนาดเล็กซึ่งทำให้น้ำไหลลงมาไม่มาก หากภาวะน้ำล้นตลิ่งกรุงเทพฯ และปริมณฑลเกิดจากน้ำแม่น้ำท่าจีน คงจะล้นตลิ่งมาก่อนหน้านี้เพราะจ. สุพรรณบุรีน้ำท่วมนานแล้ว.- สำนักข่าวไทย