กรุงเทพฯ 6 ต.ค. – อธิบดีกรมชลประทานระบุ ผันน้ำเหนือเข้าทุ่งลุ่มเจ้าพระยา 10 ทุ่งแล้วเกือบ 70% เป็นการตัดยอดน้ำเพื่อลดผลกระทบของประชาชนจากภาวะน้ำท่วม โดยหากเกษตรกรเก็บเกี่ยวข้าวแล้วเสร็จ จะสามารถนำน้ำไปเก็บกักได้เต็มศักยภาพตามแผนที่วางไว้
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ขณะนี้มีพื้นที่ประสบอุทกภัย 15 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย นครราชสีมา ชัยภูมิ ลพบุรี พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี อ่างทอง อุบลราชธานี พิษณุโลก กำแพงเพชร พิจิตร ขอนแก่น ชัยนาท สุพรรณบุรี และอุทัยธานี ซึ่งกรมชลประทานเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังออกให้เร็วที่สุด พร้อมกันนี้นำผลวิเคราะห์และคาดการณ์สภาพอากาศ รวมทั้งแนวโน้มของอิทธิพลพายุของกรมอุตุนิยมวิทยามาประกอบการบริหารจัดการน้ำเพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและป่าสักปริมาณน้ำเหนือลดลงแล้ว ซึ่งจะทยอยปรับลดการระบายน้ำสู่พื้นที่ตอนล่างให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนบริเวณรอบทุ่ง
วันนี้น้ำแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 2,749 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ลดลงจากเมื่อวานนี้ซึ่งอยู่ที่ 2,788 ลบ.ม.ต่อวินาที ส่วนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ระบายน้ำ 901 ลบ.ม.ต่อวินาที ลดลงจากเมื่อวานนี้ซึ่งอยู่ที่ 1,000 ลบ.ม.ต่อวินาที จากนั้นควบคุมให้น้ำไหลผ่านเขื่อนพระรามหกสูงสุดในอัตรา 762 ลบ.ม.ต่อวินาที ทำให้เช้านี้ (6.00 น.) น้ำไหลรวมกันผ่าน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา 3,104 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งไม่เกินความจุของลำน้ำที่รับได้ 3,500 ลบ.ม.ต่อวินาที
นายประพิศกล่าวต่อว่า ในวันที่ 10 ต.ค. จะเกิดภาวะน้ำทะเลหนุนสูงสุด คาดว่า จะส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม 30-50 ซม. บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จ.ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้เสริมเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำเพื่อเร่งระบายออกทะเล นอกจากนี้ยังใช้ทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อตัดยอดน้ำหลาก
ทั้งนี้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ประเมินว่า ลุ่มน้ำยม-น่านผันน้ำเข้าทุ่งบางระกำแล้ว 400 ล้าน ลบ.ม. ส่วนทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำ 10 ทุ่งลุ่มน้ำเจ้าพระยา รับน้ำแล้วรวม 978 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 67% จากแผนที่กำหนดไว้ 1,454 ล้าน ลบ.ม.
นายประพิศกล่าวต่อว่า สาเหตุที่ยังไม่ได้รับน้ำเข้าทุ่ง 100% ตามแผนเนื่องจากยังมีนาข้าวที่รอเก็บเกี่ยวอีก 121,000 ไร่หรือ 11.8 % ของที่เพาะปลูกทั้งหมด ซึ่งเมื่อเกษตรกรเก็บเกี่ยวหมดแล้ว จะพิจารณารับน้ำเข้าจนเต็มศักยภาพ ซึ่งเป็นการเตรียมแปลงสำหรับเพาะปลูกพืชน้ำน้อยในช่วงหน้าแล้งได้อีกด้วย
ส่วนลุ่มน้ำชี–มูล น้ำที่ระบายจากจ.ชัยภูมิลงแม่น้ำชีเคลื่อนตัวมาถึงเขื่อนชนบท อ.ชนบท จ.ขอนแก่น แล้วเอ่อล้นตลิ่ง ประกอบกับระดับน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์มีน้ำมากถึง 85.44% จึงต้องระบายน้ำลงลำน้ำพองและชีตามลำดับ จึงทำให้น้ำท่วมสูงในจ. ขอนแก่น กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด รวมทั้งต้องเฝ้าระวังจ. มหาสารคาม ยโสธร และศรีสะเกษด้วย เนื่องจากน้ำที่ระบายจากจ.นครราชสีมาลงแม่น้ำมูลเคลื่อนตัวมาผ่านจ.ศรีสะเกษแล้ว แล้วจะไหลไปที่จ.อุบลราชธานี
ล่าสุด ศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำชี-มูล (ส่วนหน้า) รายงานว่า ระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำ M7 อ. เมืองอุบลราชธานี เวลา 06.00 น. อยู่ที่ +112.49 ม.รทก. อัตราการไหล 2,594 ลบ.ม.ต่อวินาที สูงกว่าตลิ่ง 49 เซนติเมตร โดยทรงตัวมา 2 วันแล้ว เนื่องจากเร่งระบายน้ำแม่น้ำมูลลงสู่แม่น้ำโขงได้มากถึง 2,811.23 ลบ.ม.ต่อวินาทีหรือวันละ 242.89 ล้าน ลบ.ม. เพื่อให้ลำน้ำสามารถรับปริมาณน้ำสูงสุดที่จะมาถึงในอีก 10-15 วันได้ โดยเกิดผลกระทบน้อยที่สุด.- สำนักข่าวไทย