วอชิงตัน 5 ต.ค. – ผลวิจัยที่เผยแพร่ในวารสารการแพทย์แลนเซตเมื่อวันจันทร์ตามเวลาท้องถิ่นระบุว่า วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ของไฟเซอร์/ไบออนเทคมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อลดเหลือร้อยละ 47 จากเดิมที่มีร้อยละ 88 หลังฉีดวัคซีนโดสที่สองครบ 6 เดือน
ผลวิจัยดังกล่าวเป็นการศึกษาข้อมูลที่หน่วยงานด้านสุขภาพของสหรัฐนำมาใช้เพื่อตัดสินใจว่าควรฉีดวัคซีนเข็มที่สามเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันเมื่อใด และเคยประกาศผลการศึกษามาแล้วเมื่อเดือนสิงหาคมในขณะที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการ ผลการวิเคราะห์ข้อมูลชี้ว่า วัคซีนของไฟเซอร์ยังคงมีประสิทธิภาพป้องกันการเสียชีวิตและการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้สูงถึงร้อยละ 90 เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือนแม้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตาก็ตาม คณะนักวิจัยยังระบุว่า ประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อที่ลดลงเป็นผลมาจากประสิทธิภาพของวัคซีนมากกว่าเชื้อโควิดที่กลายพันธุ์มากขึ้น
ในขณะเดียวกัน ลูอิส โจดาร์ รองประธานอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายการแพทย์ของไฟเซอร์ กล่าวว่า ผลการวิเคราะห์แบบเจาะจงสายพันธุ์ของเชื้อโควิดแสดงให้เห็นว่า วัคซีนของไฟเซอร์/ไบออนเทคมีประสิทธิภาพต้านสายพันธุ์ที่น่าวิตกกังวลได้ทั้งหมด ซึ่งรวมถึงเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา ทั้งนี้ คณะนักวิจัยจากไฟเซอร์และไคเซอร์ เพอร์มาเนนเต ได้ศึกษาข้อมูลสุขภาพจากประชาชน 3.4 ล้านคนที่เป็นสมาชิกของระบบสุขภาพไคเซอร์ เพอร์มาเนนเต ในพื้นที่แคลิฟอร์เนียตอนใต้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 ถึงเดือนสิงหาคม 2564.-สำนักข่าวไทย