กรุงเทพฯ 4 ต.ค. – อธิบดีกรมชลประทานระบุ ยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนทุกพื้นที่เนื่องจากยังไม่สิ้นสุดฤดูฝน ตลอดจนประสานทุกหน่วยงานเฝ้าระวังระดับน้ำในลำน้ำชีที่คาดการณ์ว่า เพิ่มสูงขึ้น และอาจส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ ในช่วงวันที่ 4 – 15 ต.ค.
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งประเทศของปี 2564 สูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 9% โดยเฉพาะในภาคเหนือสูงกว่าค่าเฉลี่ย 9% ภาคกลางสูงกว่าค่าเฉลี่ย 9% และภาคตะวันออกเฉียงเหนือสูงกว่าค่าเฉลี่ย 1% โดยวันที่ 24-26 ก.ย. มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ จากอิทธิพลของพายุดีเปรสชันเตี้ยนหมู่
ปัจจุบันมี ยังคงมีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวม 20 จังหวัด 87 อำเภอ ที่ต้องเร่งคลี่คลายได้แก่
– จังหวัดสุโขทัย 7 อำเภอ ได้แก่ อ.ทุ่งเสลี่ยม อ.ศรีสำโรง อ.บ้านด่านลานหอย อ.ศรีสัชนาลัย อ.เมือง อ.คีรีมาศ และ อ.สวรรคโลก รวมทั้งมีน้ำท่วมถนนทางหลวงอีกหลายเส้นทาง กรมชลประทานได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ และได้บริหารจัดการน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของจังหวัดสุโขทัยด้วยการชะลอน้ำเหนือประตูระบายน้ำแม่น้ำยม (บ้านหาดสะพานจันทร์) เร่งผันน้ำเข้า ปตร.คลองหกบาท และใช้ระบบคลองเชื่อมฝั่งซ้ายแม่น้ำยม ในการผันน้ำเข้าสู่คลองแม่น้ำยมสายเก่า เพื่อลดระดับน้ำในเขตอำเภอเมือง
– จังหวัดนครราชสีมา 3 อำเภอ ได้แก่ อ.โนนสูง อ.เมือง และ อ.โนนไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบด้านท้ายอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) และปริมาณน้ำที่เอ่อล้นตลิ่งของลำน้ำมูลในหลายจุด ซึ่งปัจจุบันสถานการณ์น้ำในอ่างฯลำเชียงไกร (ตอนล่าง) ปริมาณน้ำลดลง ทั้งนี้ กรมชลประทาน ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในลำเชียงไกร รวม
18 เครื่อง พร้อมทั้งเร่งดำเนินการซ่อมแซมทำนบดินชั่วคราวของอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) เพื่อช่วยลดผลกระทบพื้นที่ด้านท้ายอ่างฯ ได้เร็วขึ้น และช่วยเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2564/65
– จังหวัดลพบุรี 1 อำเภอ (ริมคลองชัยนาท-ป่าสัก) ได้แก่ อ.บ้านหมี่ จำนวน6 ตำบล ได้แก่
ต.หนองกระเบียน ต.หนองเมือง ต.บ้านกล้วย ต.บ้านทราย ต.หนองทรายขาว และ ต.พุคา รวม 4,940 ครัวเรือน
– จังหวัดอุบลราชธานี 3 อำเภอ (ซึ่งเป็นพื้นที่ตลิ่งต่ำน้ำท่วมซ้ำซาก) ได้แก่ อ.เมือง อ.วารินชำราบ
และ อ.ตระการพืชผล เนื่องจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” และอัตราการระบายในลำน้ำสายต่างๆ ทำให้น้ำเอ่อล้นตลิ่งในลำน้ำมูล โครงการชลประทานอุบลราชธานี ช่วยเหลือด้วยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ จำนวน 4 เครื่อง
และจะดำเนินการติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำจำนวนทั้งสิ้น 200 เครื่อง
– จังหวัดชัยภูมิ 16 อำเภอ รวมพื้นที่ประมาณ 157,211 ไร่ โดยเฉพาะบริเวณลุ่มน้ำลำคันฉู
ลำปะทาว และลำน้ำพรม-เชิญ โครงการชลประทานชัยภูมิ กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำจำนวน 5 เครื่อง และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำแล้ว 8 เครื่อง
นายประพิศกล่าวต่อว่า ได้ประสานไปยังจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 จังหวัดได้แก่ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร และศรีสะเกษ ซึ่งกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช) แจ้งเตือนให้เฝ้าระวังระดับน้ำในลำน้ำชีล้นตลิ่ง ช่วงวันที่ 4 – 15 ต.ค. ซึ่งจะส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำ โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำชี จุดเสี่ยงที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ เฝ้าระวังระดับน้ำและเตรียมพร้อมรับมือ แจ้งจังหวัดประสาน อปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ เครื่องจักร-เครื่องกล และเจ้าหน้าที่ร่วมกับทุกหน่วยงานช่วยเหลือประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ กอนช. ประเมินสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชีตอนล่างบริเวณอ. เมืองขอนแก่น จ. ขอนแก่น และอ. โกสุมพิสัย จ. มหาสารคามพบว่า เขื่อนมหาสารคามมีระดับน้ำสูงกว่าระดับเก็บกัก 78 เซนติเมตร ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนมหารสารคาม 580 ลบ.ม./วินาที ทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น 5 เซนติเมตรต่อชั่วโมงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระดับน้ำในลำน้ำชีเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 1.50 – 2 เมตร จะล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำชี ในช่วงวันที่ 4 – 15 ต.ค.
สำหรับการคาดการณ์ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งมีดังนี้
– ขอนแก่น 9 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองขอนแก่น อำเภอโคกโพธิ์ชัย อำเภอมัญจาคีรี อำเภอแวงใหญ่ อำเภอแวงน้อย อำเภอชนบท อำเภอบ้านไผ่ อำเภอบ้านแฮ่ด และอำเภอพระยืน
– มหาสารคาม 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอโกสุมพิสัย อำเภอกันทรวิชัย และอำเภอเมืองมหาสารคาม
– กาฬสินธุ์ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอฆ้องชัย อำเภอกมลาไสย และอำเภอร่องคำ
– ร้อยเอ็ด 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอจังหาร อำเภอเชียงขวัญ อำเภอธวัชบุรี อำเภอโพธิ์ชัย อำเภอเสลภูมิ อำเภอทุ่งเขาหลวง อำเภอพนมไพร และอำเภออาจสามารถ
– ยโสธร 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองยโสธร อำเภอคำเขื่อนแก้ว อำเภอมหาชนะชัย และอำเภอค้อวัง
– ศรีสะเกษที่อำเภอกันทรารมย์.- สำนักข่าวไทย