กทม.10 ส.ค.-สายพันธุ์เดลตาครองเมืองแล้วเกือบ 100% อธิบดีกรมวิทย์ฯ ไม่แนะนำให้ตรวจหาภูมิคุ้มกันเอง นอกจากไม่ถูกต้อง ยังสร้างความสับสน
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แถลงการจำแนกสายพันธุ์ไวรัสโควิด-19 ที่เฝ้าระวังล่าสุดจากการเก็บตัวอย่างทั่วประเทศกว่า 1,632 ตัวอย่าง พบสายพันธุ์เดลตาหรือ อินเดียประมาณ 1,500 ตัวอย่าง ที่เหลือ 100 กว่ารายเป็นสายพันธุ์อัลฟา, สายพันธุ์เบตา 4 ราย พบในพื้นที่ภาคใต้เป็นส่วนมาก ทำให้ภาพรวมของประเทศไทยวันนี้มีการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา 91.9%แล้ว และเดลตาจะเบียดแซงสายพันธุ์อื่นๆ จนมีแต่เดลตา 100% ถ้าเจาะลึกจะเห็นว่าสายพันธุ์เดลตาเพิ่มจำนวนการระบาดค่อนข้างเร็ว วันนี้พบเดลตาใน 76 จังหวัด ขาดเพียง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไม่มีการระบาดของสายพันธุ์นี้แต่อาจจะยังตรวจไม่เจอ
ในขณะที่สายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) สัปดาห์ที่ผ่านมาเพิ่มเพียง 4 ราย คือ ภูเก็ต 3 ราย พัทลุง 1 ราย ภาพรวม 70 % ยังอยู่ที่ จ.นราธิวาส ที่เป็นแหล่งกำเนิด จากที่มีคนข้ามมาจากฝั่งมาเลเซีย โชคดีที่สายพันธุ์เบตาไม่มีการแพร่เชื้อได้รวดเร็ว จึงจำกัดวงอยู่ที่ภาคใต้เท่านั้น ก่อนหน้านี้เคยพบที่ จ.บึงกาฬ 2 สัปดาห์ต่อเนื่องกันประมาณ 5 คน แต่ขณะนี้ยุติไปแล้ว กรณีเบตาจึงไม่น่าจะเป็นปัญหานอกพื้นที่ เพราะพบอยู่ในวงของพื้นที่ภาคใต้
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังขอให้ประชาชนเคร่งครัดการใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือเพราะเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้คนไทยทุกคน ไม่ติดเชื้อ เพราะถ้าเราหยุดการแพร่เชื้อได้เร็วโอกาสที่เชื้อจะกลายพันธุ์ใหม่ๆ ก็จะน้อยลง
ส่วนสายพันธุ์ใหม่อื่นๆ เช่น แลมดา ก็ยังไม่พบในไทย แต่ก็อยู่ในการเฝ้าระวังด้วยเช่นกันทั้งใน state quarantine และในพื้นที่ต่างๆ และตามชายแดน
นพ.ศุภกิจ ยังกล่าวถึงการตรวจหาภูมิคุ้มกัน antibody หลังฉีดวัคซีน แล้วเอามาโพสต์ในสื่อโซเชียล โดยขอย้ำว่า ภูมิคุ้มกันนั้นไม่ได้เป็นตัวยืนยันว่าจะสามารถคุ้มกันการติดเชื้อสายพันธุ์ใดได้ และไม่มีความคุ้มค่าในการตรวจ เพราะการขึ้นของภูมิคุ้มกันแสดงในภาพรวม ที่สำคัญห้องแล็บแต่ละแห่งมีค่าของตัวเลขแตกต่างกันไป เอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้ จะทำให้เกิดความสับสนวุ่นวาย ที่สำคัญองค์การอนามัยโลกยังไม่ได้กำหนดว่า ภูมิคุ้มกันเท่านี้จะป้องกันสายพันธุ์ใดได้เท่าไหร่
ดังนั้น คำถามสำคัญที่หากประชาชนจะไปตรวจภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนคือ ให้ถามผู้ตรวจว่า การตรวจนี้คือ neutralizing antibody หรือเป็นภูมิคุ้มกันที่จะปกป้องกำจัดเชื้อโรคหรือไม่ ซึ่งถ้าไม่ใช่เป็นการตรวจภูมิคุ้มกันโดยทั่วไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร
คนตรวจจะได้อธิบายในมาตรฐานของภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นให้เข้าใจได้ ย้ำไม่จำเป็นที่พี่น้องประชาชนจะไปตรวจภูมิคุ้มกัน
“ขอให้ประชาชนติดตามว่าการฉีดวัคซีนคืบหน้าไปมากน้อยเพียงใด สูตรไหนจะสร้างภูมิคุ้มกันได้มากน้อยเท่าใด ครอบคลุมสายพันธุ์ใดได้บ้าง ขอให้มั่นใจว่ากระทรวงสาธารณสุขมีกระบวนการ ที่ดำเนินการอยู่ เหมือนเช่นที่กระทรวงสาธารณสุขให้ข้อมูลว่าการฉีดวัคซีนsv 1 ตามด้วย az 2 เพราะมีข้อมูลว่า ภูมิคุ้มกันจะครอบคลุมสายพันธุ์เดลตาได้ และการตรวจหาภูมิคุ้มกันรายบุคคล จึงไม่มีความจำเป็นต้องทำ” นพ.ศุภกิจ กล่าว .-สำนักข่าวไทย