สปสช.19 เม.ย.-สปสช.วอนชุมชนอย่ากังวล หลังเข้าใจผิดว่ามีผู้ป่วยโควิดกักตัวที่บ้านเพื่อหลีกเลี่ยงการรักษา กรณีดังกล่าวอยู่ระหว่างรอประสานหาเตียง และได้รับการติดตามดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์อยู่ตลอด อีกทั้งการกักตัว ไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อให้แก่เพื่อนบ้าน
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ สปสช. ดำเนินการมอบหมายให้เจ้าหน้าที่สายด่วน 1330 ทำหน้าที่รับแจ้งประสานจัดหาเตียงแก่ผู้ป่วยที่ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด-19 แต่โรงพยาบาลที่ตรวจให้ยังไม่มีเตียงว่างที่จะรองรับ ทำให้อาจต้องกักตัวอยู่ที่บ้านระหว่างที่รอการประสานหาเตียงในโรงพยาบาลอื่นๆ โดยเจ้าหน้าที่สายด่วนจะโทรไปสอบถามติดตามอาการทุกวันนั้น
ล่าสุดจากการโทรติดตามอาการของสายด่วน 1330พบว่ามีผู้ป่วยรายหนึ่งซึ่งตรวจพบว่าติดเชื้อ แต่ไม่แสดงอาการ และต้องกักตัวที่บ้านระหว่างรอประสานจัดหาเตียง ถูกเพื่อนบ้านเข้าใจผิดว่าหลบเลี่ยงการรักษา เกิดความไม่สบายใจว่าจะเกิดการแพร่ระบาด จนแจ้งตำรวจให้มารับตัวส่งโรงพยาบาล ซึ่งขอเรียนว่ากรณีนี้ผู้ป่วยรายดังกล่าวไม่ได้หลบเลี่ยงการรักษาแต่อย่างใด การกักตัวอยู่ที่บ้านก็เป็นไปเพราะรอการประสานหาเตียง และได้รับการติดตามดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์อยู่ตลอด อีกทั้งการกักตัวนั้นก็ไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อให้แก่เพื่อนบ้านด้วย
“ระยะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อยังเพิ่มจำนวนขึ้นทุกวัน ทำให้เตียงในโรงพยาบาลหนาแน่นและผู้ป่วยบางส่วนต้องรอการจัดหาเตียง ระหว่างนั้นก็ต้องการกักตัวอยู่ที่บ้าน ซึ่งอยากขอความร่วมมือเพื่อนบ้านในชุมชนว่าอย่าวิตกกังวลหรือแสดงอาการรังเกียจผู้ติดเชื้อ วัตถุประสงค์ของการกักตัวก็เพื่อป้องกันการแพร่เชื้ออยู่แล้ว ดังนั้นหากปฏิบัติตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรคในระหว่างกักตัว โอกาสที่จะแพร่เชื้อมีน้อยมาก อีกทั้งผู้ที่อยู่ในการกักตัวก็ได้รับการติดตามอาการจากโรงพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่ของ สปสช.อย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว” นพ.จเด็จ กล่าว
นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า หากพิจารณาจากแนวปฏิบัติตัวระหว่างการกักตัวซึ่งแนะนำโดยกรมควบคุมโรค ที่ระบุว่าต้องอยู่ในที่พักอาศัย 14 วัน ไม่รับประทานอาหารและใช้ภาชนะร่วมกับผู้อื่น ไม่ใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น ล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่นาน 20 วินาทีหรือแอลกอฮอล์ 70% ต้องสวมหน้ากากอนามัยและอยู่ห่างจากคนอื่นประมาณ 1-2 เมตร ทิ้งหน้ากากอนามัยใส่ถุงพลาสติก ปิดถุงให้สนิท ก่อนทิ้งลงถังขยะที่ปิดมิดชิด จากนั้นทำความสะอาดมือด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์ 70% ทันที เมื่อไอจามให้ใช้ทิชชูปิดปาก ปิดจมูกถึงคางทุกครั้ง ทิ้งทิชชูใส่ถุงพลาสติก ทำความสะอาดบริเวณที่พักด้วยน้ำยาฟอกขาว 5% และท้าความสะอาดเสื้อผ้า ผ้าปูเตียง ผ้าขนหนู หรืออื่นๆ ด้วยผงซักฟอกและน้ำธรรมดา หรือซักผ้าด้วยน้ำร้อน อุณหภูมิ 70-90 องศาเซสเซียส จะพบว่าข้อปฏิบัติเหล่านี้ล้วนเป็นไปเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อทั้งสิ้น
“อยากขอความร่วมมือประชาชนทุกท่าน หากมีผู้ติดเชื้อที่กักตัวอยู่ที่บ้านระหว่างรอประสานหาเตียง ขออย่าได้กังวลว่าจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดแก่ชุมชนโดยรอบในทางกลับกัน การเห็นอกเห็นใจกัน สร้างความตระหนักรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโควิด-19 จะยิ่งทำให้ชุมชนเข้มแข็งและเป็นปราการชั้นดีในการรับมือการระบาดในครั้งนี้” นพ.จเด็จ กล่าว .-สำนักข่าวไทย