กรุงเทพฯ 16 พ.ย. – กรมวิทย์ฯ ตรวจพบยาคลอร์เฟนิรามีน ซึ่งเป็นยาอันตราย ตาม พ.ร.บ.ยา 2510 ลำดับที่ 32 ใน “หัวน้ำหวาน” ที่ลักลอบนำมาใช้ทดแทนยาแก้ไอในสี่คูณร้อย ในพื้นที่ภาคใต้ แต่ไม่พบสารเสพติด วัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทชนิดอื่นๆ เช่น เมทแอมเฟตามีน แอมเฟตามีน และสารสำคัญของพืชกระท่อม
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ตามที่สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับการลักลอบผลิต “หัวน้ำหวาน” สี่คูณร้อย ในอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีคนกลุ่มหนึ่งลักลอบผลิตสารตั้งต้นที่ใช้เป็นส่วนผสมของสารเสพติดเรียกกันว่า “หัวน้ำหวาน”มีลักษณะคล้ายน้ำหวานสีแดง มีกลิ่นคล้ายผลไม้สละและมีความเหนียวข้น ส่งขายให้กับกลุ่มผู้ดื่ม “สี่คูณร้อย” โดยกระจายขายตามร้านค้าชุมชน และส่งขายในช่องทางออนไลน์ ซึ่งผู้ดื่มสี่คูณร้อยบอกว่าหัวน้ำหวานดังกล่าวถูกนำมาทดแทนยาแก้ไอที่ผสมน้ำกระท่อมเพื่อดื่ม ชาวบ้านในพื้นที่จึงเกิดความเป็นห่วง และนำตัวอย่างหัวน้ำหวานส่งให้กับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อตรวจพิสูจน์ ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานี นั้น
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 11 สุราษฎร์ธานี ได้รับตัวอย่างหัวน้ำหวานดังกล่าว จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 มีลักษณะเป็นของเหลวสีแดง คล้ายน้ำหวาน บรรจุในถุงพลาสติกใส มัดปากถุงด้วยหนังยาง ไม่มีฉลากแจ้งชื่อผลิตภัณฑ์ เลขสารบบ ส่วนประกอบ และสถานที่ผลิต ได้ทำการตรวจพิสูจน์หาสารเสพติดและตัวยาที่อาจผสมในตัวอย่างดังกล่าวด้วยวิธี TLC และ LCMS
ผลตรวจพบว่ามีส่วนผสมของตัวยาคลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine) จัดเป็นยาอันตรายตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ลำดับที่ 32 ยาจำพวกฮิสตามีนและแอนติฮิสตามีนหรือยาแก้แพ้ ออกฤทธิ์ต้านการทำงานของสารฮีสตามีน ซึ่งเป็นสารที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสร้างขึ้นและก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อภูมิแพ้ยาคลอร์เฟนิรามีนจึงใช้บรรเทาอาการจากหวัด จาม น้ำมูกไหล น้ำตาไหล อาการคัน นอกจากนี้แพทย์ยังอาจใช้รักษาอาการอื่นๆ ตามความเหมาะสมด้วย แต่ตรวจไม่พบสารเสพติดหรือวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทชนิดอื่นๆ ได้แก่ เมทแอมเฟตามีน แอมเฟตามีน อีเฟดรีน และสารสำคัญของพืชกระท่อม (สารไมทราไจนีน Mitragynine) สำหรับตัวยาแก้แพ้ แก้ไออื่นๆ ได้แก่ ไดเฟนไฮดรามีน และเด็กซ์โตรเมทอร์แฟน ก็ยังตรวจไม่พบในตัวอย่างนี้ โดยได้รายงานผลให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราชทราบแล้ว
ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจัดเป็นผลิตภัณฑ์ที่เสี่ยงต่อสุขภาพ เนื่องจากไม่มีฉลากแสดงข้อมูลผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบ เลขสารบบ สถานที่ผลิตใดๆแสดงถึงการผลิตที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐานและยังตรวจพบตัวยาอันตรายชนิดคลอร์เฟนิรามีน ซึ่งมีอาจเกิดอาการข้างเคียง เช่น ง่วงนอน มึนงง เวียนศีรษะ ตาพร่ามัว การมองเห็นไม่ชัดเจน ปากคอจมูกแห้ง ใจสั่น ความดันโลหิตต่ำ ปัสสาวะลำบาก เป็นต้น และยังก่อให้เกิดปัญหาทางสังคม ปัญหายาเสพติด จึงขอแจ้งเตือนภัยให้ประชาชนทราบถึงผลิตภัณฑ์เสี่ยงในชุมชน และเพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลในครอบครัวหรือชุมชนได้รับอันตรายจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ช่วยกันเป็นหูเป็นตาและเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพอันตรายในชุมชน รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อย. และหน่วยงานด้านความมั่นคงได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้หมดไป .-สำนักข่าวไทย