สำนักข่าวไทย 10 พ.ย. – สถาบันวัคซีนห่งชาติ เผยยินดีหลังวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์ ประสิทธิผลสูงถึงร้อยละ 90 และส่งผลดีต่องานวิจัยวัคซีนของจุฬาฯ พร้อมเผยไทยมีแผนหารือร่วมไฟเซอร์ฯ ปลายเดือน พ.ย.นี้
ข้อมูลที่เผยแพร่ออกมา ไม่ใช่มีผลดีแค่กับบริษัท ไฟเซอร์ เท่านั้น แต่เป็นผลดีและเป็นสิ่งที่มีความหมายมากกับอีกกว่า 30 บริษัททั่วโลกที่กำลังศึกษา ค้นคว้า วิจัยผลิตวัคซีนป้องกันโควิดอยู่ โดยข้อมูลในตอนนี้พบว่ามี 11 บริษัทที่กำลังทดลองวัคซีนในมนุษย์อยู่ แม้จะมีรูปแบบการทดสอบที่หลากหลาย แต่ทุกบริษัทที่ทดสอบตั้งอยู่ภายใต้ทฤษฎีเดียวกัน คือการใช้ส่วนที่เรียกว่า spike protein ในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ผลที่ไฟเซอร์ แจ้งออกมาว่าวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA ได้ผลถึงร้อยละ 90 วัคซีนที่อีกหลายบริษัทกำลังวิจัย ก็จะมีแนวโน้มออกมาในลักษณะใกล้เคียงกับไฟเซอร์ทุกบริษัท
ข้อที่ 2 ที่เป็นผลดีคือการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ชนิด mRNA ซึ่งต้องยอมรับว่าก่อนหน้านี้เหล่านักวิทยาศาสตร์ หรือแม้แต่องค์การอนามัยโลกก็ไม่ได้คาดหวังว่าผลจะออกมาสูงขนาดนี้ ส่วนใหญ่วัคซีนชุดแรกที่ออกมา คาดหวังให้ได้ผลมากกว่าร้อยละ50 ก็เป็นที่น่าพอใจแล้ว โดยเฉพาะกับประเทศไทยที่กำลังทดลอง ทดสอบวัคซีน ชนิด mRNA ไม่ต่างจากไฟเซอร์ เช่นกัน ตอนนี้ทำให้ทีมนักจัยไทยมีกำลังใจ และมีความมั่นใจมากขึ้นว่ามาถูกทางแล้ว
ข้อที่3 จากข้อมูลที่ไฟเซอร์รายงาน พบว่าวัคซีนมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง เพราะจากการทดสอบในอาสาสมัครกว่า 43,000 คน โดยจำนวนคนทดสอบที่หลักหมื่น แล้วมีผลความปลอดภัยที่น่าพอใจ ผลที่ออกมาทำให้เกิดทั่วโลกมั่นใจว่า แม้ทั่วโลกจะเร่งรัดผลิตวัคซีนออกมา ก็ยังไม่ได้ละเลยความปลอดภัย ยิ่งสร้างความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าวัคซีนที่ได้นอกจากประสิทธิภาพแล้วยังปลอดภัยด้วย
และข้อที่ 4 จากนี้ไฟเซอร์จะต้องมีการติดตามประสิทธิผลอีกระยะหนึ่งให้มั่นใจประสิทธิผลของวัคซีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดตามว่าประสิทธิผล ร้อยละ 90 หลังฉีดแล้วประสิทธิภาพของวัคซีนจะลดลงหรือไม่ เพราะข้อมูลตอนนี้มีอยู่แค่ 2 เดือน แต่เมื่อผ่านไปนานกว่านี้ประสิทธิภาพจะอยู่นานเท่าไร และเมื่อฉีดครบ 2 โดสแล้วต้องฉีดกระตุ้น เพิ่มเติมหรือไม่
ส่วนกรณีวัคซีนของไทย นพ.นคร กล่าวว่า ขั้นตอนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยดำเนินการอยู่ ยังเป็นไปตามแผนการที่กำหนดไว้ โดยเตรียมทดสอบในมนุษย์ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งสิ่งที่ไฟเซอร์วิจัยมาถึงขั้นที่สามารถทราบได้ว่าภูมิคุ้มกันตัวไหนที่เป็นตัวกำหนดที่ช่วยยับยั้งป้องกันโรค ทำให้การวิจัยในไทยสามารถเทียบเคียงภูมิคุ้มกันที่เป็นตัวกำหนดได้ชัดเจนขึ้น ทำให้งานวิจัยของไทยทำด้วยความมั่นใจมากขึ้น และในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายนนี้ หรือประมาณสัปดาห์หน้า หน่วยงานของไทยจะประชุมหารือกับบริษัทไฟเซอร์ เกี่ยวกับข้อมูลเชิงลึกของวัคซีนนี้ ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถตัดสินใจเชิงนโยบายได้ชัดเจนมากขึ้น
เมื่อไทยกรณีมีวัคซีนโควิด-19 แล้ว จะต้องจัดลำดับขั้นตอนอย่างไร เรื่องนี้ พญ.สุชาดา เจียมศิริ ผู้อำนวยการกองโรคป้องกันด้วยวัคซีน กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตอนนี้อยู่ระหว่างการจัดเรียงความสำคัญกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับวัคซีน โดยกลุ่มแรกที่จะได้รับ คือ บุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยง ส่วนกลุ่มอื่นๆ อยู่ระหว่างการพิจารณา ต้องมีข้อมูลทั้งอัตราการป่วย อัตราการเสียชีวิต โดยจะนำข้อมูลจากในประเทศและต่างประเทศมาประกอบ คาดว่าทั้งหมดจะชัดเจนภายในสิ้นเดือน ธ.ค.นี้ จากนั้นจึงจะเสนอต่อคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติพิจารณาต่อไป และประเทศไทย ได้วางแผนจัดหาวัคซีนให้ครอบคลุม ร้อยละ 50 ของประชากรหรือประมาณ 30 ล้านคน แต่กลุ่มที่จะมีการจัดลำดับการให้วัคซีน อาจจะไม่ถึง 30 ล้านคน เพราะฉะนั้น มีความเป็นไปได้ที่ประชาชนที่ไม่ใช่กลุ่มแรกๆ ที่อยู่ในลำดับการให้วัคซีน อาจจะขอติดต่อรับวัคซีนได้ ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับปริมาณวัคซีนที่ไทยจะได้รับด้วย.-สำนักข่าวไทย