กทม. 26 มิ.ย. – กว่า 8 ปี ที่ตำรวจไทยและตำรวจสากลติดตามตัวลูกชายเครื่องดื่มชูกำลัง หลังก่อเหตุขับรถชนตำรวจเสียชีวิต สุดท้ายผลพวงจากคดีนี้ส่งผลให้ 7 นายตำรวจที่ร่วมคลี่คลายคดี ถูก ป.ป.ช สั่งเอาผิด ย้อนรอยคดีนี้จากวันแรกถึงวันนี้ จากรายงานของทีมข่าวอาชญากรรม
ผ่านมาแล้วกว่า 8 ปี คดีทายาทเครื่องดื่มชูกำลังขับรถหรูเฟอร์รารี ชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิตคาที่ บนถนนสุขุมวิท คดีนี้มีเงื่อนงำตั้งแต่นาทีแรก เมื่อตำรวจระดับสารวัตรป้องกันปราบปราม สน.ทองหล่อ ในขณะนั้น นำตัวคนดูแลรถในบ้านมามอบตัว บอกว่าเป็นคนขับชนตำรวจ แต่คดีนี้มีพยานเห็นเหตุการณ์หลายคน ไม่มีใครเชื่อว่าคนดูแลรถเป็นคนขับตัวจริง จึงเป็นที่มาของการนำกำลังล้อมบ้านอยู่วิทยา หลังพบหลักฐานรอยคราบน้ำมันเลี้ยวเข้าไปในบ้าน พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. ในสมัยนั้น ต้องเข้าไปเจรจากดดันให้ผู้ต้องหาตัวจริงมอบตัว ในที่สุด “บอส” วรยุทธ อยู่วิทยา จึงรับสารภาพว่าเป็นคนขับรถตัวจริง
หลักฐานสำคัญที่บ่งบอกว่าผู้ต้องหาไม่อยู่ในสภาพที่มีสติครบถ้วน คือภาพการเดินขึ้นบันไดเพียง 3 ขั้น ที่เดินเซจนเกือบล้ม เขาอ้างว่าไม่สบาย กินยาแก้หวัดเข้าไป จึงมีอาการดังกล่าว
คดีนี้มีตำรวจถูกตั้งกรรมการสอบคนแล้วคนเล่า เริ่มตั้งแต่สารวัตรป้องกันปราบปรามที่นำแพะมามอบตัว ถูกตั้งกรรมการสอบ พร้อมถูกสั่งย้าย 30 วัน
จากนั้น 18 กรกฎาคม 2559 มีการสรุปสำนวนส่งให้ ป.ป.ช. เอาผิดตำรวจที่เกี่ยวข้องทั้งหมด 10 นาย ฐานช่วยเหลือให้ผู้ต้องหาไม่ถูกดำเนินคดี
ล่าสุด ป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดคดีทายาทเครื่องดื่มชูกำลังกับตำรวจทั้งสิ้น 7 นาย มีตั้งแต่ระดับผู้บังคับการในสมัยนั้น ถึงพนักงานสอบสวนที่ทำคดี โดยพบว่าในจำนวน 7 นาย มีเกษียณอายุราชการไปแล้ว 2 นาย ส่วนอีก 5 นาย ยังคงปฏิบัติหน้าที่ และได้เลื่อนตำแหน่งตามวงรอบปกติ
คดีนี้ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดไม่ร้ายแรง ประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ คนแรก พ.ต.ท.วิรดล ทับทิมดี พนักงานสอบสวนในขณะนั้น ฐานเจตนาละเว้นไม่ดำเนินคดียาเสพติด ไม่นำผลความเร็ว 177 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เข้ามาอยู่ในสำนวน และละเว้นไม่ออกหมายจับจนผู้ต้องหาหลบหนีไปอยู่ประเทศอังกฤษ
กลุ่มหัวหน้าพนักงานสอบสวน ถูกชี้มูลความผิดไม่ร้ายแรง กรณีเป็นคณะพนักงานสอบสวนร่วมลงนามในสำนวนการสอบสวน
และกลุ่มที่ 3 ระดับผู้บังคับการ และรอง ผบก. ในขณะนั้น ถูกชี้มูลความผิดไม่ร้ายแรง กรณีเป็นผู้บังคับบัญชา กลับไม่กำกับดูแลเพื่อให้การสอบสวนเป็นธรรม ถือเป็นความบกพร่องในหน้าที่
พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดไม่ร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 จะมีหลักเกณฑ์การลงโทษจากเบาไปหาหนัก ตั้งแต่ภาคทัณฑ์ ทัณฑกรรม กักยาม กักขัง และตัดเงินเดือน คดีนี้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล บอกว่าได้ลงโทษตำรวจทั้ง 5 นายไปแล้ว
ส่วนการติดตามดำเนินคดีนายวรยุทธ เบื้องต้นถูกตั้ง 5 ข้อหา คือ
1.ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
2.ไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือผู้ที่ถูกชน หรือชนแล้วหนี
3.ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด
4.ขับรถโดยขณะมึนเมา
และ 5.ขับรถโดยประมาททำให้ทรัพย์สินเสียหาย
แต่ผู้ต้องหาใช้ช่องทางกฎหมายต่อสู้จนคดีขาดอายุความไปแล้ว 4 ข้อหา เหลือเพียงข้อหาเดียวคือขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายอายุความ 15 ปี ซึ่งจะหมดอายุความ วันที่ 3 ก.ย. 2570 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า
จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครตอบได้ว่าทางการจะสามารถนำตัวผู้ต้องหากลับมาดำเนินคดีได้หรือไม่ สิ่งที่ สตช.ทำคือร่วมกับอัยการกองการต่างประเทศ ส่งหมายจับให้ตำรวจสากล (อินเตอร์โพล) ประกาศเป็นบุคคลตามหมายจับเท่านั้น. – สำนักข่าวไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
►ไขข้อกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน คดีทายาทเครื่องดื่มชูกำลัง