นนทบุรี 5 เม.ย.-สธ.พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 102 ราย รวมผู้ป่วย 2,169 ราย หายป่วยแล้ว 674 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย รวม 23 คน ชี้จะพ้นวิกฤติโควิด-19 ได้เร็ว ทุกคนต้องร่วมมือเป็นทีมเดียวกัน
นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า2019 หรือโรคโควิด-19 (COVID-19) ประจำวันที่ 5 เมษายน 2563 ที่ศูนย์แถลงข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงการให้ความรู้พื้นฐานของโรคโควิด-19 ต่อประเด็นคำถามที่ว่าดูเหมือนโรคจะไม่รุนแรง แต่ทำไมต้องวิตกกังวล คำตอบคือโรคนี้เผลอเป็นไม่ได้ ติดง่าย ระบาดเร็ว ผู้ป่วย 1 คนมีโอกาสแพร่เชื้อให้คนอื่นได้มากกว่า 2 คน จึงต้องระมัดระวังโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ชะลอการแพร่ระบาดของโรค ควบคู่กับการพัฒนาศักยภาพทางการแพทย์ให้รับมือได้ ขณะที่คำถามที่ว่าเมื่อไหร่จะมีวัคซีนรักษาโควิด-19 ตอนนี้มีบริษัทวิจัยหลายแห่ง เริ่มพัฒนาวัคซีนแล้วคาดว่าเร็วที่สุดอย่างน้อย 6 เดือนถึง 1 ปี แต่เป็นการมองโลกแบบในแง่ดี หากวัคซีนที่ใช้ทดลองมนุษย์ไม่ได้ผล อาจต้องใช้เวลานานขึ้น วิธีการที่จะช่วยให้สถานการณ์นี้ผ่านพ้นวิกฤติไปได้เร็วที่สุด คือ ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งประชาชนทุกคนต้องช่วยกันเป็นทีมเดียวกัน ติดตามข่าวสารที่เชื่อถือได้ ล้างมือบ่อยๆ สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ซึ่งถือเป็นวิธีที่ทุกประเทศทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญ เนื่องจากสามารถป้องกันการแพร่กระจายเชื้ออย่างได้ผล ยืนยันว่ามาตรการสอบสวนโรคของ สธ. ทำการสอบสวนทุกรายทั้งใน กทม.และต่างจังหวัด และดำเนินควบคู่ไปกับมาตรการทางสังคม คือ การเพิ่มระยะห่างระหว่างบุคคล Social Distancing ต่อเนื่องต่อไปอย่างเข้มข้น เพื่อลดอัตราผู้ป่วยเท่าที่จะทำได้ ให้เป็นศูนย์ได้โดยเร็วที่สุดยิ่งดี ทั้งนี้ต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนคนไทยทุกคนอย่างเคร่งครัด
ขณะที่วันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 102 ราย พบใน 66 จังหวัด รวมผู้ป่วย 2,169 ราย หายป่วยแล้ว 674 ราย ขณะมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย รวม 23 คน ผู้เสียชีวิตรายแรก เป็นชายไทย 46 ปี อาชีพรับจ้าง เดินทางกลับจากกรุงลอนดอนถึงไทย ในวันที่ 22 มีนาคม เข้ารับการรักษาครั้งแรกในวันที่ 25 มีนาคม ด้วยอาการไข้ 38.9 องศา มีอาการไอ เจ็บคอ น้ำมูก ปวดกล้ามเนื้อ หายใจลำบาก ก่อนจะเสียชีวิตในวันที่ 3 เมษายน
ผู้เสียชีวิตรายที่ 2 เป็นชายสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ อายุ 82 ปี เป็นโรคหัวใจ มีประวัติเสี่ยงไปร่วมงานเลี้ยงในหมู่บ้านที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และร่วมงานเลี้ยงในบาร์ ร้านอาหารย่านสุขุมวิท กทม. โดยมีอาการไข้ 39.2 องศา มีความดันโลหิตสูง หายใจเหนื่อยหอบ เบื้องต้นแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคปอดบวม ภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน ก่อนจะย้ายมารักษาโรงพยาบาลที่เพชรบุรีก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมา
ผู้เสียชีวิตรายที่สาม เป็นชายไทยอายุ 30 ปี มีอาชีพก่อสร้าง ชอบดื่มสุรา เดินทางจากจังหวัดพัทลุงและสุรินทร์ มีอาการป่วย ไอ ไม่มีไข้ เสมหะเขียว อาเจียนเป็นเลือด น้ำหนักลด เหนื่อยหอบ ออกซิเจนในเลือดต่ำ และเสียชีวิต
ในจำนวนผู้ป่วยเพิ่ม 102 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยยืนยัน หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่พบผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้านี้ 48 คน เป็นสถานบันเทิง 2 คน พิธีกรรมทางศาสนา 2 คน และสัมผัสผู้ป่วยยืนยันใกล้ชิด 44 คน กลุ่มที่ 2 คือ ผู้ป่วยอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยก่อนหน้านี้ 42 คน อย่าง คนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ 13 คน มาจากอังกฤษ 7 คน เป็นอาชีพเสี่ยงที่ทำงานในสถานที่แออัดหรือใกล้ชิดสัมผัสชาวต่างชาติ 19 คน บุคลากรทางการแพทย์ และสาธารณสุข 2 คน และกลุ่มที่ 3 อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค 12 คน
สำหรับผู้ป่วยใหม่ทั้ง 102 คน เป็น กรุงเทพมหานครสูงสุด 34 คน , รองลงมา ภูเก็ต 24 คน ซึ่งเป็นอาชีพเสี่ยง 10 คน และเป็นผู้สัมผัสผู้ป่วย 8 คน สมุทรปราการ 9 คน ชลบุรี 8 คน นนทบุรี 7 คน เชียงใหม่ 3 คน ฉะเชิงเทรา นราธิวาส พัทลุง ลำปาง 2 คน และ นครราชสีมา ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา ยะลา สกลนคร สระแก้ว สุรินทร์ จังหวัดละ 1 คน มีผู้ป่วยสะสมทั้ง 2,169 คน ใน 66 จังหวัด 10 อันดับสูงสุดของจังหวัดที่พบผู้ป่วยคือ กรุงเทพมหานคร 1,011 คน นนทบุรี 137 คน ภูเก็ต 131 คน สมุทรปราการ 108 คน ชลบุรี 68 คน ยะลา 52 คน ปัตตานี 45 คน สงขลา 37 คน เชียงใหม่ 36 คน ปทุมธานี 28 คน อยู่ระหว่างสอบสวน 179 คน.-สำนักข่าวไทย