สำนักข่าวไทย 2 มี.ค.-แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสจากจุฬาฯ ห่วงการรับรู้ข้อมูล “โควิด-19”ในสื่อสังคมต่างๆ ซึ่งเป็นความจริงเพียงร้อยละ20 และเติมความเห็น หากเสพมากไปจะส่งผลเสียด้านจิตใจ แนะฏิบัติตัว- รับฟังคำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุขและผู้รู้จริงเท่านั้น
วันนี้ (2มี.ค.) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติสาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ ราชบัณฑิตและหัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan ระบุถึงสถานการณ์ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) กับผลทางจิตใจ โดยมีข้อความระบุว่า
“ทุกครั้งที่มีโรคอุบัติใหม่และองค์ความรู้ยังไม่มาก ทุกคนจะเกิดความกลัว โดยเฉพาะในปัจจุบัน มีสื่อสังคมเข้ามามากมายข้อมูลที่เกิดขึ้นจะประกอบไปด้วยความจริง 20% และเติมด้วยความเห็น ความเห็นที่เติมเข้าไปก็ขึ้น อยู่กับผู้เติม ในแง่บวก หรือลบ ก็ได้
สิ่งที่สำคัญในการเสพสื่อเราต้องแยกความจริงและความเห็น ภาพของโรค ทำให้ถูกมองว่าเป็นโรคร้าย และบางครั้งมองดูเหมือนใกล้ตัว บุคลากรทางการแพทย์จะยิ่งใกล้ตัวเข้าไปใหญ่ การกักให้อยู่บ้าน เพื่อป้องกันการระบาดของโรค ประกอบกับความกลัว จะมีผลทางจิตใจค่อนข้างมาก
ในสมัย MERS ระบาด มีการศึกษาผลทางจิตใจ ในผู้สัมผัสโรค ก็จะพบคล้ายกับ post traumatic stress คือมีอาการตื่นตัว สะดุ้ง ตกใจ ไม่มีสมาธิ เครียดง่ายกับเรื่องธรรมดา ในขณะนี้หลายคน ถึงแม้จะไม่อยู่ในเหตุการณ์แต่การเสพสื่อ หรือรับรู้สื่ออย่างมากก็จะทำให้เหมือนอยู่ในเหตุการณ์ ผลที่เกิดขึ้นก็จะคล้ายกับ post traumatic stress มีอาการนอนไม่หลับ หวาดกลัว ตื่นตัว สะดุ้ง ไม่มีสมาธิในการทำงาน เครียดง่าย เมื่อมองดูแล้ว อาการดังกล่าวในภาพรวม จะเป็นปัญหาต่อสุขภาพ และจะต้องถูกคำนึง มากกว่า โรคโควิด 19 ในขณะนี้เสียอีก
ดังนั้น ทางออกที่เป็นไปได้ ถ้ารู้ตัวว่ามีอาการดังกล่าว ขอให้ลดในการเสพสื่อ เรียนรู้ แยกความจริงกับความเห็น ต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ ดูแลร่างกายให้แข็งแรงให้มีสติ ปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัด ตามคำแนะนำของทางสาธารณสุข และผู้ที่รู้จริงเท่านั้น” .-สำนักข่าวไทย